วันที่ 20 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน เป็นวันที่สอง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ถึงความล้มเหลวการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ ว่า วันนี้ประชาชนไม่มีความหวังในชีวิต เกิดความยากจนเดือดร้อน เหลือเพียงแต่ความเคียดแค้นชิงชังกับรัฐบาลที่ทำลายชีวิต ฉุดรั้งประเทศ ฉุดลากชีวิตคนไทยให้จมอยู่ในกองทุกข์ รายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่รายรับกลับน้อยลง
"คนไทยไม่ควรเดือดร้อนขนาดนี้ แต่เพราะคนไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยอยู่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์มายาวนาน 8 ปี ทำให้เสียโอกาสมากกมาย เป็น 8 ปีแห่งการทำลายชีวิตคนไทย 8 ปีแห่งมหาวิกฤติของคนไทย โดยวันนี้เราอยู่ในจุดที่นอกจากไม่มีโอกาสแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ยังเปลี่ยนโอกาสเหล่านั้นเป็นวิกฤติ จนทำให้ประชาชนมองไม่เห็นอนาคต"
จุลพันธ์ กล่าวว่า “ช่วงที่ไม่มีวิกฤต หลายประเทศเขาเดินหน้า แต่ประเทศไทยเราหยุดนิ่ง ในช่วงที่มีวิกฤติ เช่น วิกฤติโควิด-19 หลายประเทศเขาสะดุดติดขัด แต่ประเทศไทยเราล้มไม่เป็นท่า วันนี้ที่ทั่วโลกวิกฤติ เขาผ่านพ้นแล้ว เขากำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดอย่างแข็งแกร่ง ประเทศไทยเรายังตั้งไข่ไม่ได้”
จุลพันธ์ กล่าวว่า หากไปถามคนไทยทั้ง 70 ล้านคน ทุกคนจะบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นสาเหตุของความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยต้องจมอยู่ในกองทุกข์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงวิกฤติของผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์เปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์ที่ตกรุ่น ไม่สามารถทำการคำนวณแก้ไขปัญหาสมัยใหม่ได้แล้ว ไม่ต่างอะไรกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ วันนี้มีคอมพิวเตอร์มาให้เปรียบเทียบมาก เช่นคอมพิวเตอร์รุ่นชัชชาติ รุ่นเพื่อไทย ซึ่งมองเห็นปัญหา มีวิสัยทัศน์ที่จะเข้าไปแก้ไข มีนโยบายที่จะช่วยเหลือหาทางออกให้สังคม
จุลพันธ์ อ้างอิง World Economic Forum ที่ระบุว่า ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตกต่ำ 6 เรื่อง ได้แก่ ความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการรัฐประหาร ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ นโยบายไม่มั่นคงเปลี่ยนรัฐบาลและการรัฐประหาร ขาดความสามารถที่เพียงพอในการคิดค้นพัฒนา การทุจริตคอรัปชั่น และรายงานที่มีการศึกษาไม่เพียงพอ
จุลพันธ์ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารเศรษฐกิจแบบมัดตราสัง ทำภาคธุรกิจดิ้นไม่ได้ ขยับไม่ได้ จนต้องปิดตัวเป็นจำนวนมาก กระทบการจ้างงานแรงงานตกงาน มีการย้ายกลับภูมิลำเนา รวมถึงการเปิดประเทศแบบลักปิดลักเปิด กล้าๆกลัวๆ เกิดความเสียหายซ้ำเติมในภาคธุรกิจอย่างมหาศาล นอกจากนี้ การบริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปด้วยความผิดพลาด บกพร่อง จนเกิดการกู้เงินมาแจก แต่การแจกเป็นเพื่อการบริโภค ไม่เกิดการสร้างงาน ไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
“นายกรัฐมนตรีก่อนท่าน 28 ท่าน รวมกัน 80 กว่าปี เขาก่อหนี้มา ไม่เท่าท่านใช้เวลา 8 ปี สร้างหนี้ให้กับประเทศ สร้างภาระให้กับลูกหลานและประชาชน”
จุลพันธ์ กล่าวต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ เน้นเอื้อทุนใหญ่ ไม่เอื้อให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก พร้อมกับมอบสโลแกนว่านายกฯ หัวใจคือนายทุน ไม่บริหารเพื่อประชาชนแต่เพื่อกลุ่มทุน ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐต้องกำกับดูแล เข้าข่ายละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157