วันที่ 31 พ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วนวาระการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ย้อนดูผลงาน 7-8 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย แทบหยุดนิ่ง เราศูนย์เสียการเป็นผู้นำระดับภูมิภาค การเติบโตทางเศรษฐกิจ อยุ่ในระดับรั้งท้ายของโลก ข้อสรุปเดียวคือ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น 'รัฐบาลหมดสภาพ' ที่จะนำพาพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย หมดสภาพที่จะสร้างชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน
จุลพันธ์ กล่าวว่า ตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือจีดีพี รั้งท้ายภูมิภาค หากย้อนไปดูการจัดงบในช่วงที่โลกไม่มีวิฤกตใดๆ โควิด-19 ไม่มี น้ำมันราคาไม่สูง อำนาจเต็มมือ เป็นรัฐบาลเผด็จการ ในวันนั้นประเทศไทยเติบโตเพียง 2-3 % เท่านั้น ต่ำที่สุดในภูมิภาค แต่เมื่อเกิดวิกฤต ชี้ให้เห็นเลยว่า รัฐบาลฝีมือไม่ถึง โควิด-19 กระทบทั่วโลก แต่การบริหารจัดการที่ผิดพลาดโดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วสุดท้ายชัดเจนว่า ไทยเราตกขบวนการฟื้นตัวหลังเหตุการณ์โควิด
"ประเทศอื่นในโลก ในยุโรป สหรัฐอเมริกา อัตราการเติบโต อัตราเงินเฟ้อเกิดจากเงินมากเกินไป เพราะการจับจ่ายใช้สอยสูง ส่วนไทยเรารับมาแต่เรื่องเงินเฟ้อ จากภาวะน้ำมันแพง ที่ถีบให้สินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูงขึ้น แต่ในส่วนพี่น้องประชาชนกลับไม่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ" จุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ หลักคิดในด้านอื่นๆ เช่นการท่องเที่ยวเห็นได้ชัดว่า 'ลักปิดลักเปิด' เช้าอย่างเย็นอย่าง สุดท้ายภาคการท่องเที่ยวซึ่งกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก กลับถูกซ้ำเติมโดยนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของรัฐบาล พอเกิดเหตุการณ์ในยูเครน ผลกระทบที่ตามมาคือ น้ำมันพุ่งสูง การบริหารจัดการด้านพลังงานผิดมาโดยตลอด รัฐบาลดึงเอาภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาทออก แต่ทำเพื่อลดกองทุนน้ำมันของรัฐบาล เกิดวิกฤตหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ และหนี้นอกระบบ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับหนี้ครัวเรือน 14 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้สาธารณะเกิดจากการบริหารที่ไร้ทิศทาง ขาดวินัยการเงินการคลัง ระยะเวลาไม่ถึง 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สร้างหนี้สาธารณะ เพิ่มสูงกว่า 10 ล้านล้านบาท ทะลุเกิน 60% ของจีดีพีตามการอบหนี้สาธารณะเก่าไปเรียบร้อย
"พล.อ.ประยุทธ์ แถลงครั้งที่แล้วว่า ดีใจไปญี่ปุ่น เขายินดีให้การช่วยเหลือในการกู้เงิน เจ้าหนี้เขาพร้อมอยู่แล้ว เพราะเราต้องจ่ายดอก สุดท้ายเราต้องจ่ายคืนเงินต้น แต่นี่คือ มรดกหนี้สินที่ พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งไว้ให้ลูกหลานในอนาคต ท่านติดบ่วงกรรมที่ตัวเองก่อเอาไว้ ไม่รู้จักหารายได้ รู้จักแต่ใช้เงิน" จุลพันธ์ กล่าว
ส่วนวิกฤตด้านแรงงาน จุลพันธ์ กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานต้องตกงานไม่ต่ำกว่า 9 แสนคน แต่หากนับรวมถึงการว่างงานแอบแฝง จะมีไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ในช่วงวิกฤติโควิด พรรคเพื่อไทยพูดตลอดว่า ต้องมีกระบวนการในการออกนโยบายให้เกิดการคงการจ้างงาน สุดท้ายแรงงานในระบบไหลกลับไปต่างจังหวัด เข้าสู่ภาคการเกษตร แต่ปัญหาคือ ภาคการเกษตรไม่มีผลิตผลเพิ่มขึ้น หมายความว่า พี่น้องประชาชนกลับไปไม่ได้สร้างผลิตผล สุดท้าย ราคาเกษตรก็ไม่ดี ต้นทุนการเกษตรก็สูง เกิดความเดือดร้อนถ้วนหน้า
"ท่านขายฝันกับพี่น้องประชาชน ปีนั้นปีนี้คนจนจะหมดไป สุดท้ายขายฝันลมๆ แล้งๆ การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน คืออนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลว ของการบริหารจัดการด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่พี่น้องประชาชน" จุลพันธ์ กล่าว
จุลพันธ์ อธิบายว่า ขณะเดียวกันนิยามคำว่า ยากจน ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการตรึงความยากจน 8 ปี เพิ่มขึ้นมาจาก 2,600 บาทเศษ เป็น 2,700 บาทเศษ ต่อเดือน เพื่อลดภาระของรัฐบาลที่ต้องไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หมายความว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยมีประชาชนคนไทยไม่ต่ำกว่าครึ่งประเทศ ที่อยู่ในความเดือดร้อนจากการบริหารของรัฐบาล ภายใต้การบริหารของรัฐบาลมีเรื่องเดียวที่ดีคือคอร์รัปชัน ที่สามารถรปรับการคอร์รัปชันของไทยให้สูงได้อยู่สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ จุลพันธ์ ยังกล่าวถึง ปัญหา 4 อย่างที่เกิดขึ้นในพ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 คือ หนึ่ง เป็นร่างที่ไม่ตอบโจทย์ รัฐบาลส่งงบประมาณเป็นงานรูทีน ของฝ่ายราชการ ประกอบกับรัฐบาลชุดนี้ให้โครงสร้างน้ำหนักไปที่เรื่องความมั่นคง สิ่งที่พรรคเพื่อไทยคาดหวังให้เห็นไม่มีเลย คือ คาดหวังให้ ขับเคลื่อนพี่น้องประชาขน เน้นประชาชนมากกว่าราชการ
สองคือติดกับดัก ประเทศไทยจำเป็นต้องฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดที่มีการบริหารผิดพลาดไม่เติบโต สุดท้ายรัฐบาลติดกับดักตัวเอง งบประมาณเติบโตไม่ได้ ในทางการคลัง งบส่วนลงทุน แทบจะไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ
สามคือ งบผิดฝาผิดตัว แทนที่จะลดงบประจำ ไปเพิ่มงบลงทุน พี่น้องประชาชนจะสามารถได้รับประโยชน์ เป็นการชี้ให้เห็นว่า เรามุ่งเข้าสู่การเป็นรัฐราชการ มากกว่าการเป็นรัฐที่ตอบสนองความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กล่าวคือ งบความมั่นคงอู้ฟู่ แต่งบพัฒนาถดถอย และงบกลางเพื่อเยียวยาโควิดถูกตัด ทั้งที่ประเทศยังไม่ฟื้น
สี่คือ ร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 นี้ทำให้เราได้ทราบชัดว่า การโกหกหลอกลวงของพล.อ.ประยุทธ์ ถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท ฯลฯ ที่เคยหาเสียงไว้ เราทวงถาม 3 ปี แต่วันนี้กลับไม่มี มีข้อสรุปเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จงใจโกหกต่อพี่น้องประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการอภิปราย นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นประท้วง เนื่องจากการอภิปรายไม่ได้อยู่ในเนื้อหาสาระของเรื่องงบประมาณ และมีการกล่าวหาว่าพรรคพลังประชารัฐลบนโยบายที่ใช้หาเสียง ซึ่งข้อเท็จจริงคือ พรรคฯ ไม่ได้ลบนโยบาย เป็นข่าวปลอม และกำลังดำเนินคดีกับผู้ที่ลงข่าวใส่ร้ายป้ายสี และกล่าวหาว่าพรรคพลังประชารัฐโกหกประชาชน เช่น เรื่องนโยบายมารดาประชารัฐ ซึ่งหลังจากจัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐไม่ได้รับผิดชอบกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จึงไม่สามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้
โดย ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาในขณะนั้น วินิจฉัยว่า จุลพันธ์ มีการพูดโยงถึงการตั้งงบประมาณที่ควรตอบสนองต่อนโยบายที่พรรคฯ เคยประกาศ หากสิ่งที่ จุลพันธ์ อภิปราย ไม่ตรงข้อเท็จจริง ก็สามารถใช้สิทธิพาดพิงชี้แจงต่อได้ และให้อภิปรายต่อได้ โดยระวังไม่ให้กระทบกระเทือนพรรคการเมืองอื่น ซึ่ง จุลพันธ์ ชี้แจงว่า ตนไม่ได้เอ่ยชื่อพรรคการเมืองใด ก่อนจะอภิปรายต่อ
‘กิตติกร’ ติงร่างงบฯ 66 ไม่สอดคล้องสถานการณ์โลก แก้ปัญหาค่าครองชีพไม่ได้
ด้าน กิตติกร โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2566 ว่า ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งสถานการณ์โควิด-19 และราคาพลังงางแพงเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า สมมติฐานของการจัดทำร่างงบประมาณครั้งนี้ อัตรราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5-2.5% แต่ความจริงอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.นี้ อยู่ที่ 4.2-5.2% สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปที่ไม่ได้นำมาพิจารณาร่วมในการจัดทำงบ หากเริ่มด้วยสมมติฐานที่ผิด ก็ไม่สามารถเกิดประโยชน์ได้เต็มที่ การจัดเก็บงบประมาณก็ไม่เคยตามเป้า ปีนี้แทนที่จะกำหนดรายรับให้ต่ำ กลับเพิ่มสูงขึ้น ไม่รู้ว่าเพื่อให้รายจ่ายสามารถสูงขึ้นตามไปด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างงบฯ ของรัฐบาลก็มีข้อดีที่แบ่งเป็นยุทธศาสตร์เพื่อเน้นพัฒนาในด้านต่างๆ เหมือนกับลอกปีก่อนหน้ามา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะยุทธศาสตร์ต้องดำเนินในระยะยาว แต่รัฐบาลยังตกหล่นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขวิกฤตปัจจุบัน คือค่าครองชีพประชาชนที่สูงขึ้น เนื่องจากวิกฤตพลังงาน ที่ผ่านมาได้มีการพยายามตรึงราคาน้ำมันในหลายทาง แต่ขณะเดียวกัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตอนนี้มียอดติดลบระดับทะลุหลัก 8 หมื่นล้าน และมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง การกู้เงินก็มีโอกาสน้อย เพราะเป็นช่วงขาขึ้นก่อนวิกฤต เหตุใดรัฐบาลจึงไม่จัดสรรงบประมาณมาให้กองทุนไปเลย
“จริงๆ ท่านควรจะมีแผนงานที่ชัดเจนได้แล้วว่ากำลังจะทำอะไร จะตรึงราคาน้ำมันที่เท่าไหร่ คนที่ฐานะดียังเติมน้ำมันได้โดยไม่เดือดร้อน น่าจะระบุเจาะจง เช่น กลุ่มภาคขนส่ง ให้มาลงทะเบียน เพื่อสกัดคนที่ไม่จำเป็นต้องรับการช่วยเหลือออกไป” กิตติกร กล่าว
ขณะนี้ทั้งโลกกำลังประสบกับอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้นต่อเนื่อง แต่รัฐบาลกลับเพิ่มเงินกู้ แทนที่จะจัดงบประมาณอย่างสมดุล ส่วนตัวไม่อาจรับร่างงบประมาณฯ นี้ได้ เนื่องจากผิดมาตั้งแต่สมมติฐาน หากร่างนี้ผ่านไปสู่ชั้นกรรมาธิการ หวังว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่มาดูแลเรื่องค่าครองชีพของประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
'วิสิษฐ์' ชี้งบประมาณ 66 กระจุกในพื้นที่ เจือจุนพรรคพวก
วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า งบประมาณปี 2566 มีโครงการหลายโครงการกระจุกอยู่ในพื้นที่ งบประมาณที่แจกจ่ายให้ในส่วนรัฐบาล เป็นงบหาเสียง งบในการที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนนั้นแทบหาไม่เจอ จะมีแค่งบกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนคือ งบแจก แจกเพื่อเอางบพี่น้องประชาชนไปหาเสียง
วิสิษฐ์ กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2563-2565 มีการจัดงบขาดดุลทุกปี แต่ละปี เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล นั่นคือรัฐบาลไม่สามารถเก็บงบได้ตามที่ตั้งไว้ ไม่มีประสิทธิภาพในการเก็บงบ หาเงินไม่เป็น หาเงินไม่เก่ง แต่ใช้เงินเก่ง อีกทั้งเรื่องของนโยบายทิพย์ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นนโยบายที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ทำ ซึ่งส่อถึงความจริงใจที่จะจัดงบไม่กระจายแต่สนองตัณหาความต้องการของฝ่ายรัฐบาลเอง
"สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด ถือ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ท่านกล้า กล้ามาก กล้าที่จะย่ำยีความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ในขณะที่ประชาชนยังอดอยาก งบประมาณไม่เคยสนับสนุน แต่ยังกล้าซื้ออาวุธ ขณะปีที่แล้วรัฐบาลยังพ่ายแพ้ต่อกระแสของประชาชนในการถอนเรือดำน้ำ แต่วันนี้ 13,800 หมื่นล้านบาท บอกเลยว่า นายแน่มาก ที่เอางบฯ ซื้อเครื่องบิน" วิสิษฐ์ กล่าว
วิสิษฐ์ เสริมว่า ตั้งแต่ปี 2562 ข้าวตันละ 13,000 บาท แต่ละปีลดลงจนเหลือแค่ 8,000 กว่าบาทต่อตัน ขายได้จริง กิโลไม่ถึง 8 บาท ต่อมาเรื่องลำไย ในแต่ละปีที่ผ่านมา ลำไยเกรดเอ กิโลกรัมละ 26 บาท ตกลงมาตลอด ซึ่งปีที่แล้วมีปัญหามากที่สุดคือกิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท
"เรื่องเงินชดเชย พรรคเพื่อไทยเคยติดตามถามพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ แต่รัฐบาลให้ความหวังมาตลอด พูดให้กำลัง แต่ไม่ทำ" วิสิษฐ์ กล่าว
วิสิษฐ์ เสริมว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการจัดงบกระจุกในพื้นที่ จัดงบเจือจุลในกลุ่มพรรคพวก ในกลุ่มรัฐบาลเอง เป็นการหาเสียงเอาเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ อ้างว่ากระตุ้น เอาเงินไปแจก แต่ทำไมไม่มีโครงการเสริมให้ประชาชนมีรายได้ต่อไปจึงไม่สามารถให้เห็นชอบวาระที่หนึ่งของงบได้