ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านถึงรัฐบาลให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อใช้กลไกรัฐสภาร่วมกันแก้ไขปัญหาโรคระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการตราร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย หรือแม้แต่การออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อจัดสรรและจัดหางบประมาณมาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างกว้างขวาง

โดยยึดตามวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้และทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอถึงกำหนดเปิดประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีปีที่ 2 สมัยที่ 1 ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ พร้อมทั้งเสนอให้เกลี่ยก่อนกู้ โอนงบประมาณปี 2563 รายโครงการที่ไม่จำเป็นให้เสร็จสิ้นก่อนประเมินวงเงินกู้อย่างรอบคอบไม่ให้ภาระตกแก่ประชาชน

พ.ร.ก.ระดมเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

ทว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รอช้าดำเนินการประกาศพ.ร.ก. 3 ฉบับ กำหนดวงเงินกู้และกรอบมาตรการการเยียวยาวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ออกมาทันที ในรายละเอียดของการช่วยเหลือประชาชนอยู่ใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

มีสาระสำคัญ คือก มาตรา 3 ให้อำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาล มูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

ส่วนมาตรา 5 กำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินกู้ ได้แก่ 1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

และ 3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019

ทว่าในภาพรวมทั้งหมดไม่ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างไร วงเงินเท่าไร เป็นไปอย่างถ้วนหน้าเสมอภาคหรือไม่ 

ทำให้ยังคงต้องติดตามสาระสำคัญข้อกำหนดของการเยียวยาต่อไปว่า ประชาชนทุกคนจะเข้าถึงการเยียวยานี้ได้อย่างไร จะซ้ำรอยเอไอเราไม่ทิ้งกัน เกิดข้อเรียกร้องทำไมไม่ได้ห้าพันหรือไม่

โควิด19-คนไทย-วัยทำงาน-ประกันสังคม-พนักงานออฟฟิศ-WFH-work from home

อุ้มตลาดทุน – สถานบันการเงิน

ขณะเดียวกันพ.ร.ก.เงินกู้อีก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาตลาดทุนและสถานบันทางการเงิน รวม 9 แสนล้านบาท กำหนดสาระสำคัญไว้อย่างชัดเจนว่า จะได้รับการช่วยเหลืออุ้มชูอย่างไรบ้าง ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมจะขาดทุนให้ภาคธุรกิจดังกล่าวในวงเงินเท่าไร ดังนี้

พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศพ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ คือ มาตรา 7 ให้จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตรา 8 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนภายในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาทภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด

ธนาคารแห่งประเทศไทย-แบงก์ชาติ-ธปท.

เสียหายห้ามเกิน 3.6 แสนล้าน ไร้เงื่อนไข

และมาตรา 20 ในการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชกำหนดนี้ถ้ามีกำไรเกิดขึ้น ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท

ด้วยสาระสำคัญดังกล่าว ก็หนีไม่พ้นการตั้งคำถามอย่างง่ายๆว่า หากกองทุนดังกล่าวที่มีวงเงินซื้อหน่วยลงทุน 4 แสนล้านบาท และหากเสียหายกำหนดให้กระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 4 หมื่นล้าน หมายความว่า กองทุนฯนี้ สามารถเสียหายได้ไม่เกิน 3.6 แสนล้านบาท ในการอุ้มตลาดทุน ใช่หรือไม่

กัน 5 แสนล้าน หนุนแบงก์ปล่อยกู้ เว้นค่าธรรมเนียม จำนอง-จดทะเบียน

ส่วน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ คือ

มาตรา 6 ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ตามที่กำหนดในพระราชกำหนดนี้ อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี

มาตรา 9 การให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ สถาบันการเงินต้อง ดำเนินการตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1) วงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้ คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 แต่ไม่รวมถึงยอดหนี้คงค้างของวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับ วงเงินสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และวงเงินสินเชื่อ บัตรเครดิต ทั้งนี้ วงเงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิม

2) คิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนสินเชื่อเพิ่มเติมตาม (1) สำหรับระยะเวลา 2 ปีแรก ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่ ผู้ประกอบวิสาหกิจได้รับสินเชื่อเพิ่มเติม ดอกเบี้ยที่ไม่เรียกเก็บตาม (2) ให้สถาบันการเงินได้รับการชดเชยพร้อมกับกำหนดการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย ให้สถาบันการเงินได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ อันเนื่องมาจาก การให้กู้ยืมเงินตามมาตรการในพระราชกำหนดนี้

ฝ่ายค้าน เพื่อไทย พลังประชารัฐ วิป-วิปฝ่ายรัฐบาล-ประชุมสภา-การเมือง-วิรัช

จับตาฝ่ายค้านใช้สภาตีแผ่ ก่อนรับรองพ.ร.ก.

ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน คงไม่มีใครขัดขวางการกู้เงินเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่การกู้เงินที่จะทำให้คนไทยทั้ง 70 ล้านคนเป็นหนี้ร่วมกันนั้น ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ไทยทุกคนถ้วนหน้า ต้องไม่ใช่เพียงนายทุน หรือนายธนาคาร ที่ได้ผลประโยชน์

ขั้นตอนนับจากนี้ คงต้องร่วมกันจับตาและฟังการอภิปรายจากส.ส.ฝ่ายค้านในสภาที่จะตีแผ่ข้อมูลข้อเท็จจริงได้รับรู้รับทราบก่อนลงอนุมัติรับรองพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับต่อไปเมื่อถึงคราวเปิดประชุมรัฐสภาในสมัยหน้า