ไม่พบผลการค้นหา
กสทช.-บีทีเอส-ทีโอที-ดีแทค ตั้งโต๊ะแถลงร่วมแก้ปัญหา 'คลื่นแทรก' รบกวนระบบอาณัติสัญญาณ สร้างปัญหาคนกรุงเดินทางล่าช้าตั้งแต่ต้นสัปดาห์ต่อเนื่องหลายวัน ได้ทางออกรอบีทีเอสติดตั้งอุปกรณ์คลื่นวิทยุระบบใหม่เสร็จสิ้น พร้อมย้ายคลื่นความถี่หนีคลื่นโทรศัพท์ ผู้บริหารบีทีเอสยืนยันเช้าวันเสาร์ 30 มิ.ย. ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ พร้อมหาทางเยียวยาผู้ใช้บริการหลังจากนั้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยภายหลังเชิญบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เข้าหารือกรณีระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง ว่า การหารือวันนี้ เพื่อหาทางออกเพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ

กสทช-บีทีเอส

โดยจากการหารือได้ข้อตกลง คือ

หนึ่่ง BTS จะขยับย่านความถี่คลื่นวิทยุขึ้นไปในย่านที่ไม่มีการรบกวนได้คือ 2485-2495 MHz หรือขยับเข้าใกล้ย่านความถี่ 2500 MHz มากที่สุดเพื่อหลบสัญญาณรบกวน จากปัจจุบัน BTS ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz ซึ่งเป็น unlicensed band เป็นคลื่นสาธารณะไม่ต้องขอใบอนุญาต ขณะที่ TOT ใช้คลื่นความถี่ 2310 -2370 MHz ซึ่งถือว่าระยะห่างของคลื่นความถี่ที่ TOT ให้ DTAC ใช้ (2370 MHz) กับย่านความถี่ที่ BTS ใช้นั้น (2400 MHz) ห่างกันมากถึง 30 MHz ซึ่งโดยปกติระยะห่างขนาดนี้จะไม่มีการรบกวนกันได้ในกรณีการใช้เพื่อด้านโทรคมนาคม  

สอง BTS จะเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับรับส่งสัญญาณวิทยุจากเดิมใช้โมโตโรล่า (moto) มาเป็นม็อกซ่า (moxa) ให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย. นี้ ขณะเดียวกัน TOT จะปิดการใช้งานคลื่น 2330-2370 MHz ไปชั่วคราวในบริเวณแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS สายสุขุมวิทและ BTS สายสีลม จนกว่า BTS จะติดตั้งระบบส่งสัญญาณวิทยุตัวใหม่แล้วเสร็จ   

"ในวันนี้ถึงวันศุกร์ จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยทีโอทีจะปิดสัญญาณคลื่นไม่ให้กระทบกับบีทีเอส จนกว่าบีทีเอสจะย้ายอุปกรณ์เรียบร้อย และคาดว่า ทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อยในคืนวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าจะสามารถแก้ปัญหาคลื่นรบกวนได้ทั้งหมด ดังนั้นก็ต้องให้บีทีเอสนำอุปกรณ์ม็อกซ่ามาให้ทดสอบควบคู่ไปด้วย" นายฐากร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการใช้คลื่นวิทยุส่งสัญญาณในระบบรถไฟฟ้าและระบบรางที่เกิดขึ้น จะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคลื่นวิทยุระบบราง และที่ผ่านมา กสทช. ได้ให้ใบอนุญาตใช้คลื่น 850-900 MHz แก่กระทรวงคมนาคม เพื่อใช้สำหรับรถไฟความเร็วสูงแล้ว

BTS ยืนยันทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติหลังในเช้าวันเสาร์ 30 มิ.ย.

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ธุรกิจในเครือบีทีเอส กล่าวว่า BTS จะย้ายช่องความถี่ให้แล้วเสร็จภายใ���กลางดึกวันที่ 29 มิ.ย.นี้ หลังจากปิดให้บริการคาดว่าจะใช้งานได้สมบูรณ์ในวันที่ 30 มิ.ย. และตั้งแต่ TOT ปิดการส่งสัญญาณคลื่นไปตั้งแต่เมื่อวาน สถานการณ์ของ BTS ก็มีปัญหาน้อยลงเมื่อเทียบกับวันจันทร์ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า คลื่นความถี่ 2400 MHz ที่ BTS ใช้สำหรับรับส่งสัญญาณวิทยุและในระบบอาณัติสัญญาณเป็นช่องความถี่ที่ใช้มานานกว่า 9 ปีแล้ว และแผนการเปลี่ยนอุปกรณ์คลื่นวิทยุจากโมโตโรล่าเป็นม็อกซ่าก็ดำเนินการมากว่า 1 ปี ซึ่งตามแผนจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. นี้ แต่เมื่อเกิดข้อติดขัดอย่างที่ปรากฎในสัปดาห์นี้ จึงได้เร่งการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในคืนวันที่ 29 มิ.ย. นี้ 

"ระบบอาณัติสัญญาณโดยทั่วไป ตามมาตรฐานยุโรป จะใช้คลื่นความถี่ 2400-2500 MHz อยู่แล้ว แต่เนื่องจากมันเป็นสาธารณะก็อาจจะถูกรบกวนบ้าง และที่ผ่านมา 9 ปี เราก็ใช้ช่องความถี่นี้มาตลอด กระทั่งมีการปล่อยคลื่นโทรคมนาคม 2300 MHz ออกมาใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใครผิดใครถูก เพราะก็ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะมีผลกระทบแบบนี้ อีกทั้งมันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการรบกวนกัน แต่จากการหารือวันนี้ดีแทคและทีโอทีก็ให้ความร่วมมือกับเราอย่างดี" นายสุรพงษ์ กล่าว

พร้อมกับระบุว่า หลังจากแก้ปัญหาเรื่องคลื่นวิทยุในระบบอาณัติสัญญาณแล้วเสร็จ จะพิจารณาถึงการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน 

"ดังนั้นในช่วงที่ BTS เปลี่ยนอุปกรณ์ในระหว่างวันพฤหัสบดีและศุกร์นี้ เราจึงจะปิดคลื่นที่อยู่ในเส้นทาง BTS ก่อน และเราเชื่อว่าอะไรๆ จะดีขึ้น ยิ่งถ้ามีการติดตั้งฟีลเตอร์กรองอีกชั้นก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น และยืนยันว่าในแง่ของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในคลื่น 2300 MHz อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ก็เปิดช่องความถี่อื่นให้ใช้ได้" นายรังสรรค์ กล่าว

TOT ปิดส่งสัญญาณคลื่นมือถือ 2300 MHz จนกว่า BTS จะติดตั้งอุปกรณ์ใหม่เสร็จสิ้น

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กล่าวว่า กรณีสถานีฐานยิงสัญญาณคลื่นความถี่มาที่โทรศัพท์มือถือผู้ใช้บริการ อันนี้จะไม่มีผลรบกวนคลื่นวิทยุระบบอาณัติสัญญาณ แต่เนื่องจากเครื่องรับวิทยุในระบบเก่าของ BTS (โมโตโรล่า) เปิดกว้างเกินไป ซึ่งก็ทำให้การใช้งานของช่องความถี่ 2300 MHz เข้ามารบกวนได้ ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาคือ เปลี่ยนอุปกรณ์ และติดตั้งฟีลเตอร์เพื่อกรองเฉพาะช่องความถี่ของตัวเอง ซึ่งจะช่วยได้ 

คลื่นบีทีเอส


"ดังนั้นในช่วงที่ BTS เปลี่ยนอุปกรณ์ในระหว่างวันพฤหัสบดีและศุกร์นี้ เราจึงจะปิดคลื่นที่อยู่ในเส้นทาง BTS ก่อน และเราเชื่อว่าอะไรๆ จะดีขึ้น ยิ่งถ้ามีการติดตั้งฟีลเตอร์กรองอีกชั้นก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น และยืนยันว่าในแง่ของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในคลื่น 2300 MHz อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ก็เปิดช่องความถี่อื่นให้ใช้ได้" นายรังสรรค์ กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง :