ไม่พบผลการค้นหา
บัญชีทวิตเตอร์หลักของบีทีเอสขัดข้องทางเทคนิค จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ทวิตเตอร์ชั่วคราวในชื่อ @Btsskytrain2 ก่อนผู้บริหารจะแถลงมาตรการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องเมื่อสัปดาห์ก่อน

ปัญหารถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องยังเกิดต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-29 มิ.ย.) และแม้ว่าเมื่อต้นสัปดาห์นี้ (2 ก.ค.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ธุรกิจย่อยของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม ร่วมตรวจการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว (สายสุขุมวิท) ตั้งแต่สถานีอารีย์ ถึง สถานีพร้อมพงษ์ รวม 11 สถานี ��นช่วง 6.00-7.00 น. วันที่ 2 ก.ค. และเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ให้บีทีเอสสอบผ่าน 

หลังจากบีทีเอสเปลี่ยนอุปกรณ์วิทยุสื่อสารระบบอาณัติสัญญาณจากโมโตโรล่าเป็นม็อกซ่า ขยับคลื่นความถี่ไปอยู่ที่ตำแหน่ง 2430-2495 MHz และติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่นเรียบร้อยแล้ว 

แต่ปัญหาระบบการเดินรถก็ยังไม่จบสิ้น ในวันนี้ (4 ก.ค.) ตั้งแต่ช่วงเช้า มีรถไฟฟ้าสายสีลม 1 ขบวน ที่ต้องกลับมาใช้ระบบ Manual เดินรถ และทำให้มีผู้โดยสารติดค้างรอคิวบนสถานีรถไฟฟ้าสายสีลม อาทิ สถานีบางหว้า สถานีโพธินิมิตร สถานีสยาม จำนวนมากในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า เกิดเป็นกระแสผู้ใช้บริการถล่มทวิตเตอร์และช่องทางสื่อสารหลักของบีทีเอส 

กระทั่งช่วงค่ำวันนี้ (4 ก.ค.) บัญชีทวิตเตอร์ @BTS_SkyTrain ซึ่งมีฟอลโลเวอร์ถึง 2.5 ล้านราย เกิดปัญหาขัดข้องดาวน์โหลดข้อมูลไม่ได้ ทำให้บริษัทต้องแจ้งย้ายไปเปิดบัญชีทวิตเตอร์ใหม่ในชื่อ @Btsskytrain2 พร้อมกับแจ้งว่า เนื่องจากบัญชีทวีตเตอร์ @Bts_skytrain ซึ่งเป็นบัญชีหลักของรถไฟฟ้าบีทีเอส เกิดปัญหาทางเทคนิค และอยู่ระหว่างการแก้ไข ทีมงานจึงได้ตั้งบัญชีทวิตเตอร์สำรองในชื่อ @Btsskytrain2 เป็นช่องทางสื่อสารชั่วคราว จนกว่าจะสามารถกู้บัญชีเดิมกลับมาได้

ทำให้ชาวโซเชียลเข้าไปแสดงความเห็นต่างๆ นานา อาทิ "ขัดข้องยันทวิตเตอร์เลยนะคะ", "แล้วเมื่อไรจะมีรถไฟฟ้าสำรองตอนมันเสียหรอคะ", "พังยันแอคทวิต", "ขัดข้องทุกช่องทาง" เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้เช้า (5 ก.ค.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะมีการแถลงข่าวเรื่องการดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ สืบเนื่องจากกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ระหว่างวันที่ 25 – 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับรับทราบมาตรการกรณีเกิดเหตุขัดข้องของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เรื่องมาตรการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทจะออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ค. หลังจากวันพุธที่ 4 ก.ค. มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการหารือถึงแนวปฏิบัติในอนาคต กรณีรถไฟฟ้าขัดข้อง 

รมว.คมนาคมให้เวลาบีทีเอสติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันคลื่นรบกวนให้ครบ 52 สถานี

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้บีทีเอสอยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันคลื่นรบกวน ซึ่งยังติดตั้งไม่ครบทั้ง 52 สถานี คงต้องให้เวลากับผู้ให้บริการด้วย โดยทางผู้ให้บริการได้รับปากกับกระทรวงคมนาคมแล้วว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด ซึ่งเชื่อว่าหลังจากติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วก็จะแก้ปัญหาคลื่นรบกวน หรือการกระตุกที่เกิดระหว่างการให้บริการได้ ส่วนการแก้ปัญหาการเปิดปิดของระบบประตูรถไฟฟ้ากับระบบที่กั้นอัตโนมัติ (แพลทฟอร์มสกรีนดอร์) ก็แก้ไขกันไป

สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความล่าช้าในการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ให้บริการอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการชดเชยต่าง ๆ ว่าจะเป็นการชดเชยแบบเฉพาะกลุ่มหรือทั่วไป โดยผู้ให้บริการยอมรับว่ามาตรการชดเชยแบบรายบุคคลอาจจะดำเนินการได้ยาก เพราะผู้โดยสารในแต่ละวันมีจำนวนมาก และบางคนมีการเดินทางในวันที่มีปัญหาในการให้บริการจริง แต่บางคนก็อาจไม่ได้เดินทางในวันดังกล่าว ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ได้ให้คำแนะนำไป และเชื่อว่ามาตรการชดเชยน่าจะมีความชัดเจนให้เห็นเร็ว ๆ นี้ อาจต้องให้เวลาผู้ให้บริการในการพิจารณาด้วย

ข่าวเกี่ยวข้อง :