นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ ‘ทิศทางการศึกษานิติศาสตร์ในอนาคตนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน’ เนื่องในโอกาสครบ 46 ปี ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปัญหารากหญ้าจนกระทั่งปัญหาทางการเมือง ไปจนถึงผู้บริหารสูงสุด เกิดจากอะไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็คือเกิดจากการขาดวินัยของบุคคล รู้จักแต่สิทธิของตัวเอง แต่ไม่รู้หน้าที่ ดังนั้น ทาง กรธ. จึงสรุปว่า จะต้องทำให้คนมีวินัยให้ได้ แต่กฎหมายก็ไม่สามารถให้คนมีวินัยได้ การศึกษาต่างหากถึงทำให้คนมีวินัยได้
ฉะนั้น ถ้าเรามุ่งแต่ให้การศึกษาเพื่อให้เด็กไปแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ความรู้ทางวิชาการนั้น ก็อาจจะมาทำลายโลกได้ ถ้าคนนั้นไม่มีวินัย และไม่มีคุณธรรม ดังนั้นในรัฐธรรมนูญจึงเขียนบังคับให้รัฐต้องจัดการศึกษาตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิดไม่เกิน 5 ขวบ เพื่อพัฒนาสมองเด็ก อีกทั้งความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ความมีความจนอย่างเดียว ความเหลื่อมล้ำก็จะเกิดจากการได้รับการพัฒนาหรือไม่ได้รับการพัฒนาด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรกก็คือ การปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งเป้าเอาไว้ 3 อย่างว่า จะต้องเป็นคนดี มีวินัย และให้เรียนตามความถนัด
นายมีชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่สองที่จะต้องปฏิรูปก็คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขัน ซึ่งตอนนี้มีกฎหมายมากกว่า 1,000 ฉบับ แต่มีเพียง 50-100 ฉบับ ที่ใช้ลงโทษ ที่เหลือไม่ได้ใช้ เพราะว่า ฝืนธรรมชาติของมนุษย์จนเกินไป, สร้างภาระเกินกว่าที่บุคคลจะปฏิบัติตาม, กำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ, และที่สำคัญก็คือ กฎหมายที่ออกมา ไม่สมเหตุสมผล และเมื่อคนไม่มีวินัย การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ทำให้กฎหมายเป็นแต่เพียงเป็นกฎบังคับ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงกำหนดทิศทางวางกรอบการออกกฎหมายมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จึงหวังว่า ใครที่หัวสมัยใหม่ที่หวังจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ ก็ควรคงตรงนี้ไว้ โดยควรจะคงหลักว่า ในการทำงานทุกองค์กร จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำตามอำนาจอำเภอใจ และจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ต่างประเทศก็คิด ว่า กฎหมายมันเยอะมากเกินไป โดยมีคนคิดทำลายระบบกฎหมาย ชื่อบริษัทกิโยติน เขาทำมาหลายประเทศแล้ว ได้ยินว่า กำลังเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งตนเชื่อว่า ครั้งนี้เขาทำไม่ได้ เพราะเขายังไม่รู้ว่ากฎหมายในประเทศไทยมีกี่ฉบับ แต่ในวันหนึ่งข้างหน้าภายใน 3 ปี จะรู้ว่ากฎหมายมีกี่ฉบับ เพราะจะมีระบบกลางรวบรวมข้อมูลอยู่
นอกจากนี้ ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่า ผลิตนักกฎหมายไปทำอะไร ตนมองว่า สิ่งที่ต้องมีคือ นักกฎหมายที่มีนิติทรรศนะ คือ 1.จิตใจเป็นธรรม ซื่อตรงวิชาชีพ 2.รอบรู้และรู้รอบ เพราะมุมมองแต่ละวิชาชีพมีความคิดอ่านต่างกัน 3.เปิดใจกว้างรับความเห็นต่าง คนที่เป็นนักกฎหมายต้องเปิดใจกว้างให้ได้ ถ้าไม่เปิดคุณจะไม่เรียนรู้อะไรใหม่ได้เลย กฎหมายไม่ใช่ตัวเลขที่มีสูตรตายตัว การปฏิบัติจะหยุดเมื่อคำวินิจฉัยถึงที่สุด แต่ในทางวิชาการจะยังไม่หยุด ยังหาเหตุผลกันอยู่ แต่อย่าชี้หน้าด่าเขา เพราะแสดงว่า ใจไม่กว้าง 4. ต้องไม่ติดยึดทฤษฎี จนก้าวไม่ทันวิวัฒนาการ โดยเฉพาะทางไอทีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราต้องออกนอกกรอบให้ได้