ไม่พบผลการค้นหา
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน -แม่นักกิจกรรม-นักศึกษาผู้ต้องคดีการเมือง เข้ายื่นหนังสือถึงอุปทูตสหรัฐฯ-อียู-ยูเอ็น แจงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนไทย ไม่ให้ประกันตัว ม.112

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับองค์กรเครือข่าย นำโดย รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. พร้อมด้วย สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ พริษฐ์ ชิวารักษ์, พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดา จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เข้ายื่นหนังสือต่อองค์กรนานาชาติ เรียกร้องความเป็นธรรมให้นักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ 

โดยเข้าพบและยื่นจดหมายต่ออุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย รวมถึงอุปทูตการเมืองสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยจะมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้านหน้า UN ถ.ราชดำเนิน ด้วยวัตถุประสงค์ที่ชี้ให้เห็นการละเมิดสิทธิในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกรณีการตั้งข้อหาดำเนินคดีผู้ชุมนุมด้วยมาตรา 112 และไม่ให้ประกันตัว

โดยเนื้อหาจดหมายมีดังนี้

เรียน Mr. Michael Heath อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะนอกจากเป็นการแปลงโฉมคณะรัฐประหารผ่านกติกาที่บิดเบี้ยวและวิธีการที่ฉ้อฉล ยังเป็นเงื่อนไขให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางผ่านทางหน่วยงานรัฐ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

แม่เพนกวิน
  • แม่พริษฐ์ ชิวารักษ์

คือกรณีการชุมนุมที่นำโดยนิสิตนักศึกษาในปี 2563 ที่ผ่านมาที่มีการขัดขวางและสลายการชุมนุมอย่างผิดหลักการและขั้นตอนสากล มีการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนกับการชุมนุม มีการขู่คุกคามผู้ชุมนุมทั้งในสถานศึกษาและที่พักอาศัย รวมถึงมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากเว้นระยะการใช้มาประมาณ 2 ปี


ตัดสิทธิขั้นพื้นฐาน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงกลางเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 73 คน ใน 63 คดี โดยในจำนวนของผู้ถูกจับกุม 18 คน มีเพียง 6 คนที่ได้รับสิทธิประกันตัว ส่วนที่เหลืออีก 12 คนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้บางคนจะเป็นนักศึกษาและอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน 

เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไม่นับรวมผู้ต้องหาคนอื่นที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะหลบหนีหรือก่อความยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นอานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ภาณุพงศ์ จาดนอก นอกจากนี้ยังมีการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น การพาตัวผู้ต้องหาจากศาลไปยังเรือนจำก่อนที่ผู้ต้องหาจะลงนามรับทราบคำสั่งศาลในคำขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่มีแนวโน้มว่านักศึกษาและประชาชนในส่วนที่เหลือจะถูกจับกุมตามหมายแล้วไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในลักษณะเดียวกัน

การปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาโดยอ้างเหตุผลว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันถือว่าขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับสากลและที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดทั้งที่กระบวนการไต่สวนพิจารณาคดียังไม่ได้เริ่ม 

ไม่นับรวมปัญหาของมาตรา 112 ทั้งในส่วนของเนื้อหา การตีความ และการบังคับใช้ ที่หลายส่วนในสังคมได้รณรงค์ให้มีการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง การฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ชุมนุมด้วยมาตรา 112 จึงเป็นส่วนหนึ่งของการอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่างหรือศัตรูทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยตกต่ำ และส่งผลให้ประเทศไทยถอยห่างออกจากความเป็นนิติรัฐ


เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพ

เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและญาติ จึงเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อให้ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ได้ตระหนักในสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยให้ยุติการกระทำดังกล่าวในทันที

อย่างไรก็ดีมีความเคลื่อนไหวของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ หลังอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ไมเคิล ฮีธ พบกับมารดาของนักเคลื่อนไหว 3 คนที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ โดยเป็นการพบปะกันตามคำขอของพวกเธอ ซึ่งได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับบุตรของพวกเธอ

007 - 21 - Statement from U.S. Embassy Bangkok on CDA Meeting with Mothers of Detained Activists.jpg

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ซึ่งเดินทางมาร่วมยื่นหนังสือด้วย ยืนยันว่า หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนควรที่จะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในด้านของการวิจารณ์ และด้านของการสรรเสริญ แต่ตอนนี้มีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 มาปิดปากปิดเสียงของประชาชน และอนุญาตให้พูดสถาบันกษัตริย์ได้เพียงด้านของการสรรเสริญเท่านั้น

“เพื่อนหนูหลายคนที่ถูกขังอยู่ พวกเราถูกพรากอิสรภาพ พรากไปจากชีวิตความเป็นอยู่ปกติ ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้เจอพ่อแม่ เพียงเพราะพวกเขาพูดความจริง และพวกเขาอยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น เขาอยากเห็นประเทศนี้พัฒนาไปในทางที่ดี แต่กฎหมาย 112 ที่รัฐบาลประยุทธ์ ได้บังคับใช้ตอนนี้มันโหดเหี้ยมมาก มันโหดเหี้ยมเกินกว่าพวกเราจะรับได้ ในฐานะประชาชนคนไทย และเราไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของเพื่อนเราที่อยู่ในเรือนจำได้เลย เราไม่ทราบว่าเพื่อเราที่อยู่ในเรือนจำสภาพการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เราไม่รู้ว่าพวกเขาจะถูกพาตัวออกไปตอนกลางคืนตอนไหน เรื่องนี้จริงๆ แล้ว รัฐไทยควรเป็นคนปกป้องสิทธิตรงนี้ให้เรา แต่เขากลับไม่ทำ”

มายด์ ระบุด้วยว่า ต้องยืนยันกับทางสถานฑูตสหรัฐว่า อยากให้เขาเป็นหนึ่งเสียงที่ช่วยยืนยันเรื่อสิทธิมนุษยชนตามหลักประชาธิปไตย และการพูดถึงประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นประชาชนสามารถทำได้ กฎหมายมาตรา 112 ในเวลานี้ไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไปแล้ว และควรจะต้องยกเลิก