วันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรม ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่แยกราชประสงค์ โดยมีผู้แจ้งความร้องทุกข์เป็นประชาชน 2 คนคือ วรวุฒิ มากมารศรี และแทนคุณ ปิตุภูมิ
สำหรับคดีนี้ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 มีความเห็นสั่งฟ้องภัสราวลี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 โดยสรุปบรรยายกล่าวหาว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นการชุมนุมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
โจทก์ยังกล่าวหาว่า จำเลยได้กล่าวถึงการขยายพระราชอํานาจหลายประการ และกล่าวถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม
ทั้งนี้ในการปราศรัยของภัสราวลี มีการกล่าวนำก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลักว่า “ในฐานะเราประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้น เราควรจะต้องพูดถึงได้ในแง่ของการสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
โดยวันนี้ศาลอ่านคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่เห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงให้ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา ภัสราวลี กล่าวถึงแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน ที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงวันที่ 1 - 14 ก.พ. ว่า การนิรโทษกรรม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะละเลยได้ เพราะการเมืองไทยเองยังมีความขัดแย้งอยู่ ยังมีแรงปะทุที่ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย จึงจำเป็นริเริ่มให้เกิดการนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ว่า สามารถที่จะพูดถึงเรื่องราวของบ้านเมืองได้ และพูดถึงทุกสถาบันฯ ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เช่นกัน
“อยากฝากถึงรัฐบาลที่นำโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน การนิรโทษกรรมประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะให้ความใส่ใจ และให้ความจริงจังในการทำเรื่องนี้ และอยากจะยืนยันว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมือง เพราะส่วนมากมีแรงจูงใจมาจากความขัดแย้งทางการเมือง และเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงรัฐบาลพล.เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังว่าคุณเศรษฐาจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หากรัฐบาลต้องการเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างสง่างาม”