วันที่ 29 มิ.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มภาคประชาชนเข้ายื่นหนังสือต่อ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี ทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เพื่อขอให้คืนสิทธิการประกันตัวและสิทธิเข้าเยี่ยมนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา อดีตผู้ต้องหาคดี 112 กล่าวว่า เรามีความประสงค์จะยื่นหนังสือต่อ ส.ส.อมรัตน์ ที่เป็นความหวังของพวกเราชาวคุกทุกคน เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานคือ สิทธิการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีข้างนอก และหวังใจว่าเราจะมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเพื่อนของเราทุกคน ตลอดจนขอเรียกร้องความเสมอภาคและยกเลิกสวนสัตว์มนุษย์ในเรือนจำที่ไม่ควรมีอยู่ในประเทศไทย
ด้าน ปุณิกา ชูศรี อดีตผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิความเป็นอยู่ และสาธารณสุข สุขอนามัยในเรือนจำ รวมถึงยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน บางทีก็ต้องตะโกนเรียกผู้คุมมารับไปรักษาพยาบาล จนบางครั้งก็สายเกินไป ระบบนี้ควรเปลี่ยนแปลง เช่น เพิ่มสัญญาณกริ่งเพื่อกดเรียกตัว ทั้งที่ติดกล้องวงจรปิดหรือเครื่องติดตามตัวก็ทำได้
วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา กล่าวว่า ล่าสุดข่าว พลพล กลุ่มทะลุแก๊ส กินยาพาราเซตามอล 60 เม็ดเพื่อพยายามฆ่าตัวตาย อันที่จริงในวันที่รับข่าวนั้นล่าช้าไปแล้ว เพราะได้กรีดแขนและกินยาไปกว่า 2-3 วัน โดยทางราชทัณฑ์ไม่ได้แจ้งเลย จึงสงสัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าพยายามปกปิดข้อมูลหรือไม่ ตลอดจนสงสัยในความเป็นธรรมของสำนวนคดีและกระบวนการยุติธรรมด้วย
ขณะที่ อมรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมก็มีมาก แต่คดีที่กระทำต่อผู้ชุมนุมอย่างการยิงเด็กอายุ 14 ปีแต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เห็นว่าสภาฯ แห่งนี้สร้างกันมา 20,000 กว่าล้าน ทุกคนควรใช้ได้ มีข้อขัดแย้งใดไม่ใช่เรียกไปคุยในกระทรวงกลาโหม แต่ตรงนี้เป็นที่ของเขา อย่าให้โลกประณามไปมากกว่านี้ว่าประเทศเรามีกฎหมายเอามากดดันต่อนักกิจกรรม
อมรัตน์ กล่าวยืนยันว่า ประเด็นสำคัญคือ สิทธิในการเยี่ยมผู้ต้องขัง ที่จะนำเข้าที่ประชุม กมธ.การกฎหมายฯ บ่ายนี้ คาดว่าจะมีการพิจารณาเชิญ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาด้วย ผลการประชุม กมธ. จะยื่นกรมราชทัณฑ์ต่อไป