วันที่ 5 ต.ค. 2565 คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการศึกษาดูงาน เรื่อง 'การคุ้มครองสิทธิและการดูแลผู้ต้องขังคดีอาญา มาตรา 112 ตามหลักการของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน' โดยได้เข้าศึกษาดูงานที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เขตจตุจักร พร้อมเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองในคดี 112
โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการใช้มาตรา 112 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าเยี่ยมชมเรือนจำ เข้าพบนักโทษคดี 112 ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อพูดคุย สอบถามกำลังใจและสภาพความเป็นอยู่ พร้อมตรวจสอบว่าได้รับการปฏิบัติตามสิทธิที่ผู้ต้องขังพึงจะได้ตามมาตรฐานสากลหรือไม่
เบญจา กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นไปเพื่อคุ้มครองและดูแลสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขัง คดี 112 คดีความมั่นคง คดีทางการเมือง ซึ่งมีการเดินทางทั้งหมด 2 วัน ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ วันที่ 4 ได้เดินทางไปยังเรือนจำธนบุรี เขตบางบอน พบกับ ศุภากร พินิจบุตร์ ผู้ต้องขังเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ส่วนวันนี้ได้เดินทางมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางเป็นที่สุดท้าย เพื่อพบกับสมบัติ ทองย้อย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างรอพิจารณาคดี รวมถึง พรชัย (แซม) และเยาวชนกลุ่มทะลุฟ้า ทะลุแก๊ส
เบญจา ระบุว่า ได้สอบถาม สมบัติ ทองย้อย ถึงชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำและเรื่องสุขภาพ รวมถึงสถานการณ์ภายในและภายนอกเรือนจำ รวมถึงสิทธิเสรีภาพของ สมบัติ ในเรือนจำ
จากนั้นคณะฯ ได้เข้าเยี่ยม อัญชัญ ปรีเลิศ ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดี 112 ดังนั้นเงื่อนไขในการเข้าเยี่ยมจึงจะมีความแตกต่าง ไม่เหมือนกับกรณีอื่นๆ อัญชัญ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ตนได้รับการดูแลในฐานะเป็นนักโทษสูงอายุ ซึ่งมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ขวัญและกำลังใจค่อนข้างดี ได้รับการพิจารณาจัดลำดับชั้นอยู่ในนักโทษชั้นเยี่ยม จากโทษเดิมที่ต้องจำคุกทั้งสิ้น 40 กว่าปี จะลดลงมาเหลืออยู่ 10 ปีเศษ ซึ่งต้องดูเงื่อนไขในทางกฎหมายต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ณัฐวุฒิ เผยว่า สำหรับผู้มาเข้าเยี่ยมในวันนี้นอกเหนือจากคณะอนุกรรมาธิการ ที่มาในนามสถานแทนราษฎร ยังมีผู้แทนจาก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อดูว่าขวัญกำลังใจของผู้ต้องขังเป็นอย่างไร และได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมหรือไม่ มีเงื่อนไขหรือปัจจัยที่แตกต่างจากกรณีอื่นๆ หรือไม่ จากนั้น จะข้อมูลที่ได้ใน 2 วันนี้ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อจัดทำเป็นรายงานต่อไป