เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ. การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมวาระพิจารณาศึกษากรณีการสั่งให้ตรวจสอบเเละให้ระงับการออกอากาศรายการเเละสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ วอยซ์ทีวี (Voice TV ) ประชาไท ( Prachathai ) The Reporters และ THE STANDARD โดยเชิญพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (DE) พล.ต.ท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้เเทนจากสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ เเละผู้แทนสื่อมวลชนเข้าชี้เเจงในกรณีดังกล่าว
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความต้องการปิดกั้นสิทธิเเละเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการเเสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ชุมนุมที่ผ่านมา เเละส่งผลให้เห็นว่ารัฐเเละผู้มีอำนาจได้ลิดรอนสิทธิเเละเสรีภาพสื่อมวลชน คณะกรรมมาธิการจึงอยากหารือเพื่อหาเเนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างภาครัฐกับสื่อมวลชนในการเสนอข่าวภายใต้ข้อจำกัดที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นบทเรียนในการรับมือต่อสถานการรณ์ในอนาคตต่อไป
พล.ต.ท จารุวัฒน์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการออกคำสั่งที่ 4 เรื่องให้ตรวจสอบเเละระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะยุยงหรือปลุกปั่นทางการเมือง เนื่องจากมีรายงานจากหน่วยข่าวกรองรายงานว่า สื่อ 5 สำนักเสนอข่าวในแนวทางที่สร้างความแตกแยก ปั่นป่วน 4 กรณี คือ ชักจูง วุ่นวาย เเตกเเยก เเละเป็นข่าวลวง โดยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม ( DES ) ไปพิจารณาเนื้อหาว่า มีการนำเสนอในช่องและรายการใดที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือไม่ เเละขอให้ดำเนินการตามกระบวนการศาล กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการออกคำสั่งให้ตรวจสอบ แต่ไม่ใช่คำสั่งปิดสื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินตามการกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายเเรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ขณะที่ เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา ตัวเเทนสื่อมวลชนจากประชาไท กล่าวว่า การกล่าวอ้างถึงกระบวนการรายงานของฝ่ายข่าวกรอง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเเละข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการหรือไม่ โดยหลักการเเล้วสื่อมวลชนจะมีองค์กรวิชาชีพสังกัด 6 วิชาชีพ ครอบคลุมสื่ออิสระ โดยอาจแบ่งเเยกออกไปตามสายงาน หมายความว่าแต่ละสายงานสื่อมวลชนล้วนมีกฎหมายกำกับดูเเลอยู่เเล้ว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ชี้เเจงว่า เนื้อหาที่ข่าวกรองระบุ มีลักษณะอย่างไร เป็นการรายงานข้อเท็จจริงหรือบทวิเคราะห์ เเละขอให้เจ้าหน้าที่ชี้เเจงให้ชัดเจนว่า ความผิดที่มีคืออะไร รัฐต้องการให้ถอดเนื้อหาออกหรือต้องการให้หยุดเผยเเพร่
'พุทธิพงษ์' ย้ำเนชั่นไม่ได้เสนอข่าวสร้างความแตกแยก
ด้าน พุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอำนาจควบคุมดูเเลการเผยเเพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนตามข้อ 4 ในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบ เเละตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจได้ โดยให้ปลัดกระทรวงดีอีเอส ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ต่อกรณีที่มีคำถามว่าการใช้อำนาจดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญมีหลายมาตรา ต้องดูให้ครบ ในสถานการณ์ปัจจุบันยังใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ยืนยันว่า เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลใช้อำนาจตามกระบวนการทางศาล ไม่ได้ใช้อำนาจของกระทรวง ในกรณีของ Voice TV มีหลักฐานยืนยันว่า ได้มีการกระทำความผิดที่ละเมิดต่อกฎหมายและก้าวล่วงสถาบัน ส่วนสำนักข่าวอื่นๆได้เตือนเเล้วและมีการลบเนื้อหาในเบื้องต้นหรือหยุดเผยเเพร่ เเต่กรณีของ Voice TV ไม่ได้หยุดเผยเเพร่ ยังคงดำเนินการต่อซึ่งขัดต่อคำสั่งภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตามการดำเนินการของกระทรวง การประกาศว่าสื่อใดละเมิดต่อพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ จะกระทำก็ต่อเมื่อมีผู้ร้องทุกข์ เเละทุกครั้งที่ส่งเรื่องไปจะประกอบด้วยคำสั่งศาลทุกครั้ง ไม่มีการใช้อำนาจของกระทรวงในการดำเนินการ
ขณะที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังเเตกร้าว สถานการณ์แบ่งเป็น 2 ฝ่าย อย่างชัดเจน กรณีที่เกิดขึ้นมีคำถามว่าหน่วยงานรัฐอาจทำตามใบสั่งของผู้มีอำนาจจะมีการตรวจสอบอย่างไร และคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาจะทราบได้อย่างไรว่าดำเนินการอย่างโปร่งใส ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน ในกรณีที่กล่าวหาว่า Voice TV ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมนั้นจะพิจารณาอย่างไร เพราะหากติดตามสื่ออื่นๆโดยเฉพาะสื่อเนชั่นก็จะพบการใช้ถ้อยคำที่มีความรุนเเรง ยั่วยุ ปลุกปั่นเเละบิดเบือนต่อผู้ชุมนุม บ่มเพาะความเเตกเเยกในสังคม จะเห็นได้ว่าเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน ปัจจุบันประชาชนในฐานะผู้ชมเองก็มีความตื่นรู้ ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดรอบด้าน ดังนั้น รัฐจะใช้ข้ออ้างเพื่อมาบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการปิดสื่อเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
จากนั้น พุทธิพงษ์ ชี้แจงว่าฐจำเป็นต้องปกป้องสถาบัน กระทรวงต้องทำตามกฎหมาย หากมีการละเมิด คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีคำสั่งใช้ตามพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกรณีของ Voice tv พบว่ามีเนื้อหาในเชิงยุยงปลุกปั่นและก้าวล่วงสถาบันเกินความเป็นจริง แต่กรณีเนชั่น ไม่ได้มีการนำเสนอพาดพิงให้เกิดความเเตกแยกหรือผิดกฎหมาย
“เราเคารพการตัดสินใจของบรรณาธิการ เพราะมีบุคคลที่รับผิดชอบเเละเสนอข่าว ในกรณี Voice TV เราดำเนินตามกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์สั่งให้ยกคำร้อง เราก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เราทำตามขั้นตอนของกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นคือการดำเนินการในช่วงเฉพาะกิจภายใต้การประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเห็นด้วย หากคณะกรรมาธิการชุดนี้จะมีการจัดสัมนาเกี่ยวกับการปฏิบัติเเนวทางของสื่อมวลชน ตามกรอบเเละเเนวทางของกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาทเเละเสรีภาพของสื่อมวลชน และเชื่อมั่นในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการตามกลไกของรัฐสภา”
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการชี้แจง ตัวแทนจาก Voice TV ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อกรรมาธิการว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีลักษณะของการคุกคามสื่อ กรณี Voice TV เป็นการถูกถอดสัญญาณเคเบิ้ล ซึ่งผู้ให้บริการชี้เเจ้งกับช่องว่า ได้ถูกกดดันจากผู้อำนาจโดยใช้ถ้อยคำว่า “อย่าไปคบกับโจร” จึงมองว่า กรณีแบบนี้เป็นการคุกคามสื่อและเป็นสิ่งที่เจอมาโดยตลอด จึงควรหาเเนวทางการปฏิบัติเพื่อหาทางออกร่วมกันในอนาคต
ในช่วงท้าย ปดิพัทธ์ สรุปว่า อยากให้มีเวทีสัมมนาเกิดขึ้น เพื่อให้สื่อมวลชนได้เเสดงความคิดเห็นและช่วยกันวางกรอบเเละเเนวทางร่วมกับภาครัฐในการปฏิบัติงานสื่อมวลชนในอนาคต ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในช่วงใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือช่วงเวลาปกติ ภาครัฐควรมีการหารือกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ เพื่อวางแนวทางร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน คณะกรรมาธิการจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้เวทีนี้เกิดประโยชน์จริงอย่างเป็นรูปธรรม