นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ตั้งกระทู้สดถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ (มอบหมาย รมต.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ มาตอบแทน) เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานในช่วงข้าวยากหมากแพง สินค้าเกือบทุกชนิดยังขึ้นราคาไม่หยุด แต่รัฐบาลยังปล่อยให้ขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราสูง ขึ้นค่าแก๊สหุงต้มทันที ราคาน้ำมันไม่ลดลง โดยไม่มีมาตรการเยียยาช่วยเหลือรองรับหรือมีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
คำถามแรกที่อยากฝากไปถึงหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคือการที่รัฐบาลปล่อยให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า FT)เพิ่มขึ้นอีก รวมแล้วคิดเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.72 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 % ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเกินไปครั้งเดียว โดยไม่ยอมพิจารณามาตรการเยียวยาหรือลดค่าใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300-500 หน่วย ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.โดยอ้างว่างบกลางไม่เพียงพอ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลไปถึงราคาสินค้าที่อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอีก จากที่มีการปรับขึ้นราคามาแล้วอย่างต่อเนื่อง จนประชาชนไม่สามารถแบกรับภาระข้าวยากหมากแพงได้อีกต่อไป
จึงอยากถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่าทำไมการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมจึงไม่ยอมตัดสินใจออกมาตรการเยียวยาลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในกลุ่มเปราะบางตามข้อเสนอของ กบง. แม้รัฐบาลจะอ้างเรื่องงบกลางมีไม่เพียงพอเพราะต้องใช้งบสูงถึง 8,000 ล้านบาท แต่ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากรัฐบาลยังเหลืองบกลางปี 2565 อยู่อีกจำนวนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้
การอ้างว่าจะรองบประมาณประจำปี 2566 เพื่อไปเริ่มเยียวยาค่าไฟฟ้าในงวดเดือนตุลาคมหรืองวดต่อ ๆ ไป จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด โดยไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ในสายตาใช่หรือไม่ เพราะแม้งบประมาณที่มี อาจจะไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้เปราะบางได้ครบทั้ง 4 เดือน คือเดือนกันยายนถึงธันวาคม แต่ก็สามารถเริ่มช่วยเหลือในเดือนกันยายนไปก่อนได้ หลังจากนั้นพอเดือนตุลาคมค่อยใช้งบปี 2566 หรืองบอื่น ๆต่อเนื่องไปได้
ทำไมเรื่องแค่นี้ พล.อ.ประวิตรจึงไม่กล้าตัดสินใจ ท่านปล่อยให้การประชุม ครม.นัดสุดท้ายก่อนวันที่ 1 กันยายนผ่านไป โดยไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ได้อย่างไร ท่านเห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนสำคัญน้อยกว่าการใช้งบของ กอ.รมน.ไปเลี้ยงกำลังพลผีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีตัวตนจริงหรืออย่างไร
คำถามที่ 2 คือ นอกจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร จะไม่ยอมออกมาตรการเยียวยาใดใดกับค่าไฟฟ้าที่ขึ้นราคาแพงมหาโหดแล้ว รัฐบาลยังปล่อยให้ก๊าซหุงต้มขึ้นราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยล่าสุดราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมขึ้นราคาอีกถังละ 15 บาท ทำให้ราคาจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนถึงพฤศจิกายน จะอยู่ที่ถังละ 408 บาท ซึ่งถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าหรือภาคครัวเรือนทั่วไป ที่ต้องใช้ก๊าซหุงต้มเป็นหลักในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิต
“ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการซ้ำเติมทั้งร้านค้าและลูกค้าที่ต้องปรับราคาค่าอาหารสูงขึ้นเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้น เมื่อราคาอาหารแพงขึ้นชาวบ้านหรือลูกค้าก็ต้องเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีก เพราะต้องจ่ายเงินซื้ออาหารแพงขึ้นกว่าเดิมจากที่แพงอยู่แล้ว ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้วิธีชลอการขึ้นราคาไว้ก่อน แม้จะมีส่วนลดให้กับผู้มีรายได้น้อยบ้าง แต่เมื่อเทียบในภาพรวมแล้ว ก็ถือว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่แพงขึ้นทุกด้าน”
คำถามที่ 3 นอกจากรัฐบาลจะไม่สามารถคุมค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้มที่ขึ้นราคามหาโหดได้แล้ว แม้แต่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นทั้งต้นทุนการผลิตสินค้า อุตสาหกรรมและค่าขนส่ง รัฐบาลก็ปล่อยให้มีการขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดลงบ้างแล้ว จนบางสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบลดลงเท่ากับสภาวะราคาน้ำมันก่อนจะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน-เสียอีก แต่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศกลับยังคงมีราคาแพงอย่างต่อเนื่องไม่ลดราคาลงตามไปด้วย โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ยังคงอยู่ที่ลิตรละประมาณ 35 บาท โดยรัฐบาลอ้างว่าเพื่อต้องการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่อยู่ในภาวะขาดทุนนับแสนล้านบาท
“ขอถาม พล.อ.ประวิตรในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่า ทำไมรัฐบาล จึงไม่ยอมเลื่อนการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันออกไปก่อนสัก 2-3 เดือน แล้วลดราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั๊มลง ให้อยู่ในระดับที่ประชาชนแบกรับไหว เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนออกไปบ้าง ใจคอท่านจะโยนภาระทุกอย่างไปให้ประชาชนหมดเลยหรือ ทั้งค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ทำไมไม่คิดแบ่งเบาช่วยเหลือประชาชนสักเรื่องหนึ่งบ้างก็ยังดี”
โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิต การขนส่ง ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป อย่างน้อยก็ควรให้เหลือลิตรละ 30 บาทไปก่อนสักระยะหนึ่ง จนกว่าประชาชนจะสามารถแบกรับภาระได้มากกว่านี้ จึงค่อยปรับขึ้นแล้วเก็บเอาเข้ากองทุนก็ยังไม่สาย ย้ำว่ารัฐบาลควรลดราคาน้ำมันดีเซลให้เหลือลิตรละ 30 บาทไประยะหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีการขึ้นลงผันผวนอยู่บ้าง แต่ภาพรวมก็ถือว่าลดลงใกล้กับช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครน-รัสเซียแล้ว
“แล้วที่รัฐบาลตั้งเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช.มานั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการแก้วิกฤติพลังงาน ตอนนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง สามารถแก้วิกฤตพลังงานอะไรสักเรื่องได้หรือไม่ ทำงานคุ้มค่ากับเบี้ยประชุมหรือไม่ ที่บอกว่าจะไปเก็บเงินค่าการกลั่นจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ตอนนี้ไปถึงไหน นอกจาก ปตท.ที่ยอมจ่ายมานิดเดียวแล้ว บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ว่าไงบ้าง”
“การขึ้นราคามหาโหดพร้อม ๆ กัน ทั้งไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม น้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วๆไป เปรียบเหมือนประชาชนถูกยิงด้วยกระสุน 4 นัด เป็นแผลฉกรรจ์ แต่แทนที่รัฐบาลจะกล้าผ่าตัดเอากระสุนออกสักนัดหนึ่งก็ยังดี แต่กลับให้เพียงยาบรรเทาปวดกับประชาชน ไม่กล้าผ่าตัดอะไรเลย จึงขอให้ พล.อ.ประวิตร หรือพี่ป้อม แสดงความกล้าหาญให้เหนือกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมานานแต่ไม่เคยกล้าตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ ด้วยการผ่ากระสุนปัญหาออกจากตัวประชาชนซักนัดหนึ่งก็ยังดี เพื่อให้เห็นว่าแม้เป็นรักษาการนายกช่วงสั้นๆ แต่ก็สามารถได้ต่อลมหายใจให้กับประชาชนได้” นภาพรกล่าว