จากกระแสข่าวอดีต ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จนเป็นที่จับตาจากหน่วยความมั่นคง
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการกล่าวร้ายและการสร้างความเข้าใจผิดต่อพรรคเพื่อไทย โดยมีเนื้อหาระบุว่า การพบปะเยี่ยมเยียนบุคคลอันเป็นที่เคารพรักของตนในช่วงเวลาสำคัญๆ ตามประเพณีบางครั้ง หากจะมีและเกิดขึ้นจริงตามที่เป็นข่าวนั้น ย่อมถือเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกพรรคแต่ละท่าน ที่มีความระลึกถึงและปรารถนาจะพบกับอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพรักของตน แต่การแสดงออกเช่นนี้กลับถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง เพื่อลิดรอนหรือตัดตอนพรรคการเมืองที่เห็นต่างเหมือนในหลายกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้เคยถูกกระทำมาแล้ว
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลการตัดสินใจสำคัญใดๆ ของพรรคเพื่อไทย ล้วนดำเนินการและเกิดขึ้นโดยอาศัยกระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารอย่างมีระบบและแบบแผน อำนาจการตัดสินใจใดๆ ของคณะผู้บริหารพรรค จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากสาขาพรรค จากที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และที่สำคัญต้องอยู่บนพื้นฐานการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางจากสมาชิกพรรค รวมถึงความต้องการของประชาชน
การนำประเด็นดังกล่าวนี้ไปสร้างเป็นเงื่อนไขในการยุบพรรค จึงเป็นบทละครเดิมๆ ที่ถูกนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ในอีกด้านหนึ่งคือ การแสดงออกถึงความวิตกกังวลของอำนาจตนที่กำลังคลอนแคลนในปัจจุบัน จนต้องพยายามหาเหตุกลั่นแกล้ง
ก่อนหน้านี้นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า การที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบกับนายทักษิณ เพราะเป็นคนที่เคารพนับถือ และยอมรับว่าตัวเองก็เดินทางไปพบนายทักษิณที่ฮ่องกงด้วยตามประเพณีเทศกาลตรุษจีน ส่วนการพบปะจะเข้าข่ายยุบพรรคหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่าเป็นเหตุตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งใครสามารถเดินทางไปพบก็ได้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองยิมยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ส่วน มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดเป็นการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ขณะที่มาตรา 92 กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 28 ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้วถ้าสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ก็ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'วัฒนา'ยันสมาชิกเพื่อไทยพบ 'ทักษิณ' เป็นเสรีภาพ ไม่เป็นเหตุยุบพรรค เมินจ้างล็อบบี้ยิสต์