พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ระบุถึงกระแสข่าวว่า อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในต่างประเทศนั้น ต้องดูว่าเข้าลักษณะการครอบงำ ชี้นำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ เพราะตามกฏหมายพรรคการเมือง ไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว รวมถึงการนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาสู่พรรคก็ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อน หากพบว่าผิดจริง ตามกฎหมายกำหนดโทษให้ต้องยุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมือง
'ประวิตร' ไม่ห้ามคนการเมืองออกนอกประเทศ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า คำสั่ง คสช.ที่ 21/2557 เรื่องห้ามบุคคลออกนอกราชอาณาจักรได้ยกเลิกไปแล้ว จึงสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ทั้งนี้ไม่ได้มีการประเมินว่าการปรากฎตัวของสองอดีตนายกรัฐมนตรีจะสอดคล้องกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่
เพื่อไทย ยันพบอดีตนายกฯ เคารพรัก ปัดมีนัยการเมือง
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนำเสนอข่าวมีอดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส.เดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเกิดปัญหาการส่งผู้สมัคร ส.ส.บางพื้นที่เกิดความทับซ้อน ว่า ตนไม่ทราบว่าข่าวนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แต่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก ขอเรียนว่าขณะนี้ยังไม่มีการปลดล็อกทางการเมือง พรรคการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ยังไม่มีใครทราบว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร จึงยังไม่มีใครทราบว่าใครจะได้ลงพื้นที่ไหนหรือไม่ได้ลงอย่างไร
เมื่อปลดล็อกทางการเมืองแล้ว พรรคก็จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ระหว่างที่การเมืองติดล็อก พรรคการเมืองมีข้อจำกัดมากมาย คงไม่สามารถไปกระทำการใดๆ ได้ ส่วนคนที่เดินทางไป ถ้ามีคงเป็นเพราะความเคารพรักกัน ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ ไม่มีการไปแก้ปัญหาการเมืองในพรรค นอกพรรคอะไรทั้งสิ้น จึงขออนุญาตเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
กางกฎหมายให้อำนาจ กกต. ยื่นศาล รธน.ยุบพรรค-ตัดสิทธิเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้กำหนดโทษยุบพรรคไว้ ตาม มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม โดยจะเป็นไปตามมาตรา 92 เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 28 ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
ขณะที่ มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม หากฝ่าฝืนตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: