ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำพรรคเพื่อไทย ยอมรับเดินทางไปพบอดีตนายกฯ ไม่เป็นเหตุให้เข้าข้อกฎหมายยุบพรรคเพื่อไทยได้ ชี้ คสช.พังเพราะตัวเอง ไม่ต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์

จากกรณีกระแสข่าวหน่วยงานความมั่นคง อ้างถึงรัฐบาล คสช.กำลังจับตาความเคลื่อนไหว นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งอาจให้ฝ่ายกฎหมายของ คสช.ติดตามรายละเอียดอดีต ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทยที่เดินทางไปอดีตนายกฯที่ประเทศจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งอาจมีความผิดเข้าข่ายยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญนั้น

ล่าสุด นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า การที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบกับนายทักษิณ เพราะเป็นคนที่เคารพนับถือ และยอมรับว่าตัวเองก็เดินทางไปพบนายทักษิณที่ฮ่องกงด้วยตามประเพณีเทศกาลตรุษจีน ส่วนการพบปะจะเข้าข่ายยุบพรรคหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่าเป็นเหตุตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งใครสามารถเดินทางไปพบก็ได้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเหมือนกับที่ คสช.เดินทางไปรดน้ำอวยพรปีใหม่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ดังนั้น พรรคเพื่อไทย ไม่กังวลด้วยถ้าจะมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเพื่อไทย และส่วนตัวไม่ได้ให้ราคากับ คสช.

"ผมเคารพนายกฯทักษิณหนักหัวใคร ส่วนที่บอกว่าจะนายกฯทักษิณจะมาชี้นำมีที่ไหน ลือกันมา แต่ผมไปพบนายกฯทักษิณแน่ๆ เพราะเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มันไม่เกี่ยว คสช. ส่วนที่อ้างว่านายกฯทักษิณ จะให้คนนั้นหัวหน้าพรรค ลือทั้งนั้น อ้างชื่อใครพูด อ้างแต่แหล่งข่าว ข่าวลือทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้น ผมก็ลือว่า คสช.ทำไม่ดีก็ควรจะคืนอำนาจให้ประชาชน ก็ลือกันได้ แต่เรื่องจริงที่ปรากฎคือ สมาชิกพรรคเพื่อไทยเดินทางไปอดีตนายกฯเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ไปขอเบิกเงิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือเช่าเครื่องบินหลวงเหมาลำ ไม่ได้ยืมนาฬิกาเพื่อนเดินทางไป" นายวัฒนา ระบุ

เมื่อถามถึงกรณีที่ คสช.กังวลว่าสองอดีตนายกฯจะจ้างล็อบบี้ยิสต์มากดดันรัฐบาลไทยนั้น นายวัฒนา ระบุว่า เรื่อง คสช.จะพังไม่ต้องพัง ไม่จำเป็นต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์ แต่ คสช.อาจจะพังด้วยตัวเอง จากเรื่องนาฬิกาหรูและแหวนเพชรที่คนในรัฐบาลไม่แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็พังเองได้"

กางข้อกม.ชี้ ศาล รธน.ยุบพรรคปมครอบงำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองยิมยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

ส่วน มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดเป็นการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ขณะที่มาตรา 92 กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 28 ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้วถ้าสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ก็ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย

ขณะที่มาตรา 108 กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น