ไม่พบผลการค้นหา
'แจ๊ค หม่า' ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านแอปพลิเคชันที่ควบคุมด้วย 'เอไอ' โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

ระบบธนาคารออนไลน์ของ 'แจ็ค หม่า' ที่ใช้เทคโนโลยีข้อมูลการจ่ายเงิน ณ เวลาจริง รวมทั้งระบบประเมินความเสี่ยงที่วิเคราะห์ข้อมูลกว่า 3,000 รายการ ผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ กลายเป็นนวัตกรรมทางการปล่อยกู้เงินให้กับธุรกิจขนาดเล็กในประเทสจีน 

ปัจจุบัน 'มายแบงก์' แอปพลิเคชัน อายุ 4 ปี ของ 'แจ็ค หม่า' ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9 ล้านล้านบาท แก่ผู้ประกอบการรายเล็กถึงกว่า 16 ล้านราย โดยผู้ขอสินเชื่อสามารถดำเนินการขอสินเชื่อได้ทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน และระบบจะเวลาเพียง 3 นาทีในการพิจารณาคำขอก่อนอนุมัติ กระบวนการต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ จึงส่งผลให้อัตราความผิดพลาดอยู่ที่เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ไม่ปล่อยกู้ เศรษฐกิจก็ไม่โต 

ภายใต้เศรษฐกิจมูลค่ากว่า 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 402 ล้านล้านบาทของจีน บริษัทเอกชน ซึ่งล้วนเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีส่วนในการเติบโตของเศรษฐกิจถึงร้อยละ 60 ทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานกว่าร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด 

'คีธ พอกสัน' เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการธนาคารและตลาดทุน บริษัทอีวาย หรือ เอินส์ทแอนด์ยัง ในฮ่องกง กล่าวว่า แท้จริงแล้วบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เปรียบเสมือนเตาเผาที่แท้จริงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งแต่ก่อนธนาคารมักมองว่า บริษัทเหล่านี้เป็นภาคส่วนที่จัดการยากและมีความเสี่ยงมากเก���นไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ธนาคารต่างๆ ต่างพยายามหาวิธีดูแลความเสี่ยงเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทเหล่านี้มากขึ้น

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารต่างๆ ยอมปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจของตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงินที่ส่งให้จีนกลายเป็นตลาดการจ่ายเงินออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยิ่งแอปพลิเคชันอย่าง 'มายแบงก์' ออกมานำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานมากขึ้น ทั้งในระบบการจ่ายเงิน โซเชียลมีเดีย รวมทั้งบริการอื่นๆ ธนาคารพาณิชย์จึงจำเป็นต้องปรับตัวตาม

'เอไอ' ในระบบธนาคารคือตัวอย่างความสำเร็จ

'คลิฟ เฉิน' ผู้อำนวยการร่วมของ โอลิเวอร์ เวแมมน บริษัทให้คำปรึกษา กล่าวว่า ประเทศจีนกลายเป็นผู้นำด้านการนำข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อนำมาวิเคราะห์การให้สินเชื่อ โดยหนึ่งในปัจจัยได้เปรียบหลัก มาจากการที่จีนมีความผ่อนปรนเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนมากกว่าหลายๆ ประเทศ หนึ่งในการเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความเฉพาะตัวของจีน มาจากระบบประเมินคะแนนทางสังคมของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ในเชิงข้อมูลขนาดมหาศาลให้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ

'จิน เสี่ยวหลง' ประธานของมายแบงก์ กล่าวว่า บริษัทอาจนำข้อมูลความประพฤติของประชาชนที่ได้จากระบบของรัฐบาลมาประเมินการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน โดยยกตัวอย่างว่า หากเจ้าของธุรกิจหนึ่งได้คะแนนความประพฤติต่ำลงเพราะไม่ยอมไปคืนร่มที่ยืมมา ก็อาจจะได้รับคำอนุมัติขอสินเชื่อยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของมายแบงก์ ข้อมูลหลักไม่ได้มาจากรัฐบาลจีน แต่มาจากฐานข้อมูลของบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล ซึ่งเป็นหุ้นส่วนหลักของมายแบงก์ 

ไม่ใช่แค่ยิ่งใหญ่ แต่ใช้ได้จริง

'เซิง ผิงเอิง' เจ้าของร้านขายสกู๊ตเตอร์ ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งปัจจุบันมีรายได้ราว 1.2 ล้านหยวน หรือประมาณ 5.37 ล้านบาท กล่าวว่า แอปฯ มายแบงก์ เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาของร้าน

โดยหลังจากที่ 'เซิง' อนุญาต ให้แอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของร้านทั้งหมด 'เซิง' ก็สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของร้านได้ โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราวร้อยละ 15 ต่อปี

"มันเป็นเรื่องคาดไม่ถึงเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้ผมจะกู้เงินที่ไหนก็ได้" เซิง กล่าว

บริการดังกล่าวกำลังกลายเป็นที่นิยมสำหรับบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันที่ต้องการเข้ามามีส่วนแบ่งจากตลาดการเงินออนไลน์ โดยนอกจากจะมีมายแบงก์จากแอนท์ ไฟแนนเชียล ในตลาดยังมีการแข่งขันจากยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทเทนเซ็นต์ และบริษัทประกันผิงอัน รวมทั้งแอพลิเคชันที่มีธนาคารกลางของจีนเป็นผู้พัฒนาด้วยเช่นกัน

อ้างอิง; Bloomberg, FE