คาเฟ่ที่ว่านี้มีชื่อว่า "คาเฟ่ยิ้มสู้" ดำเนินการโดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ริเริ่ม โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการฝึกอาชีพให้กับคนพิการ ซึ่งได้รับโมเดลมาจากต่างประเทศ เริ่มจากอาชีพที่ไม่ซับซ้อนมาก คือการทำเครื่องดื่มหรืออาหาร ขณะที่ชื่อของร้าน ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ไฮไลท์ของที่นี่ คือให้ผู้พิการทางการได้ยิน หรือ คนหูหนวก เป็นบาริสต้า ทั้งรับออเดอร์เอง ชงเอง เสิร์ฟเอง
'ขนิษฐา ทองดี' หนึ่งในบาร์ริสต้าเล่าว่า เธอทำงานที่นี่เป็นที่แรก เธอรู้ตัวดีว่าตัวเองมีข้อด้อยกว่าผู้อื่น แต่เธอก็ไม่ย่อท้อและภูมิใจมากที่ได้รับโอกาสนี้ ประกอบกับคนรอบข้างของเธอ ไม่ได้มองเธอแบบเลือกปฏิบัติ
สำหรับการสั่งกาแฟที่นี่ แม้จะไม่ใช้เสียงเลย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเลยซักนิด เพราะมีหลากหลายวิธีให้เลือก เริ่มจากวิธีง่ายๆ คือจิ้มไปที่แผ่นป้ายเมนู เหมือนกับเราไปต่างประเทศ หรือจะจิ้มไปที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ได้ มีให้เลือกทุกเมนู ทั้งเอสเพรสโซ่ คาปูชิโน่ ม็อคค่า ลาเต้ หวานน้อยหวานมากสามารถเลือกได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังสามารถสั่งผ่านตู้คีออส ยกหูโทรศัพท์ที่ใช้สื่อสารกับคนหูหนวกได้ด้วย เพราะมีล่ามคอยสแตนบายแปลภาษามือให้กว่า 50 คน หรือจะใช้ภาษามือในการสั่งอาหารก็สามารถทำได้เช่นกัน
ตลอด 2 ปีของการดำเนินกิจการคาเฟ่ยิ้มสู้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ อาจจะเป็นเพราะว่าที่นี่ให้โอกาสผู้พิการทำเองทุกอย่าง ไม่ใช่นำมาเป็นจุดขายดึงลูกค้า
ศาสตราจารย์ วิริยะ เล่าอีกว่า ไม่ต้องการให้ผู้พิการอยู่ที่นี่ตลอดไป อยากให้ออกไปมีอาชีพของตนเอง เจริญงอกงามในสิ่งที่ตนเองชอบและถนัด ซึ่งเขาได้ย้ำกับผู้พิการเสมอว่า จงเปลี่ยนจุดอ่อนของตัวเอง ให้กลายเป็นจุดแข็งให้ได้