นักวิชาการอสังหาริมทรัพย์ เสนอให้ภาครัฐ ทุบอาคารแฟลตดินแดง พร้อมปรับบทบาทการเคหะฯ ให้เป็นเพียงผู้กำกับดูแล แทนการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนแออัด หรือสลัม ลดลง จากข้อจำกัดด้านพื้นที่ และความเจริญทางเศรษฐกิจของประชาชน แต่การแก้ปัญหาชุมชนแออัด ด้วยการรื้อย้าย ไล่ที่ ไม่ช่วยแก้ปัญหา จึงควรปรับปรุงโดยสร้างอสังหาริมทรัพย์แนวสูง เพื่อเพิ่มจำนวนผู้มีรายได้น้อยอาศัยในเขตเมือง รวมทั้งการเช่า นอกเหนือจากการจัดสรรที่ดิน
พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้สร้างแฟลตดินแดงใหม่ เพราะอาคารเดิมเสื่อมสภาพ มีอายุใช้งานมากกว่า 50 ปี และยังพบว่า มีการปล่อยเช่า หรือขายกรรมสิทธิ์จำนวนมาก ซึ่งผู้พักอาศัยแฟลตดินแดงปัจจุบันไม่ใช่คนยากจน เพราะมีเครื่องปรับอากาศ , ชมทีวีดาวเทียม และมีรถยนต์มากกว่าครึ่งของคนที่อยู่ในแฟลตดินแดง
นอกจากนี้ ควรปรับบทบาทการเคหะแห่งชาติ จากผู้ดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร หรือที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย มาเป็นผู้กำกับดูแลด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือพัฒนาชุมชนเมืองแทน เพราะปัจจุบันมีภาคเอกชน เข้ามาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ จำนวนมากแล้ว
ด้านนางสุขุมาภรณ์ จงภักดี รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนแห่งชาติ การเคหะแห่งชาติ ยืนยันว่า การเคหะฯ จะยังสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้ผู้มีรายได้น้อย เพราะในตลาดไม่มีเอกชน สร้างที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 6 แสนบาท และผู้มีรายได้น้อย มากกว่า 2 ล้านครัวเรือนที่ต้องการที่อยู่อาศัย ยืนยัน ไม่มีนโยบายแข่งขันกับภาคเอกชน
ขณะที่โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ยังเหลืออยู่ 1 หมื่น 8 พันหน่วย จาก 2 แสน 8 หมื่นหน่วย คาดว่าจะขายหมดภายใน 1-2 ปี โดยการเคหะฯ จะมีโครงการให้เช่าที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยอีกทาง และปรับบทบาทเรื่องการฟื้นฟูเมือง และจัดรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่
ทั้งนี้ เสนอให้ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาระดับชาติ โดยการจัดตั้งกระทรวงพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย ปรับบทบาทคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองแห่งชาติ และจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาเมือง เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย