วันที่ 3 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2567 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ใช้สิทธิ์ลุกชี้แจง โดยระบุว่า ได้บันทึกข้อเสนอแนะของสมาชิกฯ ทั้งหมดไปปรับแก้ในวาระที่ 2 ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ขอรับไว้ ส่วนที่เป็นวาทกรรม ขออนุญาตไม่ตอบ เพราะเข้าใจว่าอะไรที่เกินเลยไป สามารถยกให้กันได้
จุลพันธ์ ชี้แจงว่าข้อสังเกตเรื่องนโยบายต่างๆ ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ เพราะบางครั้งไม่ได้มีรายการที่เป็นชื่อแบบนั้นตรงๆ อีกทั้งงบประมาณเป็นเพียงกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีนโยบายและกลไกอีกมากมายที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจากภาครัฐ
ส่วนเรื่องการทำประชามติเอง ก็ไม่ปรากฏในเล่มเอกสารงบประมาณ เพราะต้องเริ่มจากคำขอของส่วนงานราชการ แต่เนื่องจากยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนเจาะจงในการดำเนินการ ส่วนราชการจึงยังไม่สามารถมีคำขอมายังสำนักงบประมาณได้ เว้นแต่มีคำสั่งมากจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เริ่มดำเนินการได้
จุลพันธ์ ยังกล่าวถึงเรื่องงบผูกพันที่เป็นมรดกจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นสิ่งจำเป็นที่ยังไม่สามารถปรับออกได้ แต่ก็มีการปรับแก้ปฏิทินงบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่สุด ในส่วนที่มีความจำเป็น เช่นเดียวกับข้อถกเถียงเรื่องงบกลาง โดยเฉพาะในส่วนงบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ซึ่งมีการปรับขึ้นตามเพดานงบประมาณที่สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมด
ยืนยันว่ายังจำเป็นที่ต้องมีงบกลางเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างทันท่วงที และรัฐบาลยืนยันว่ามีงบเพียงพอสำหรับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพียงแต่หากยังไม่มีการกำหนดเวลาจำเพาะเจาะจงระหว่างทำงบ หน่วยงานก็จะยังไม่ส่งคำของบประมาณเป็นการเฉพาะ
สำหรับการเติมเงินเข้าไปในกองทุนต่างๆ นั้น จุลพันธ์ ระบุว่า การเติมเงินจำเป็นต้องทยอยทำอย่างมีจังหวะจะโคน ไม่ใช่ถมเข้าไปทีเดียว เพราะอาจเกินกว่าศักยภาพของกองทุนเองในการรับการช่วยเหลือ เพราะแต่ละพื้นที่หรือส่วนงานก็มีข้อจำกัดในการบริหารงบประมาณตามภารกิจงานของตนเอง พร้อมยืนยันตัวเลข 1 แสนล้านบาทที่เติมเข้าไป จะเกิดขึ้นแน่นอนภายใน 4 ปี
ส่วนข้อห่วงใยเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จุลพันธ์ ยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่มาของเงินจริง เพราะรัฐบาลต้องการสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่กลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณแผ่นดิน เป็นเพียงการเปลี่ยนมือผู้ใช้งบประมาณไปกระตุ้นเศรษฐกิจ จากภาครัฐไปสู่ประชาชนเท่านั้น การจะหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจอาจยาก ดังนั้น กลไกที่เหมาะสมจึงเป็นการสร้างแหล่งเงินใหม่จากภายนอกเข้ามาเติม เพื่อกระตุ้นและพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยขึ้นมาได้