'เอเชียไทม์ส' เผยแพร่รายงาน Thailand’s ‘five families’ poised to profit on the plague โดยระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์สกัดการระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทย ได้ทำให้ธุรกิจหลายประเภทถูกปิดชั่วคราว แต่ 7-Eleven ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และ Family Mart ที่ดำเนินการโดยยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกอย่างกลุ่มเซ็นทรัล รวมถึงห้างแฟรนไชส์ทันสมัยอื่นๆ ที่ควบคุมและดำเนินกิจการโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการได้ในฐานะ "บริการที่จำเป็น" แต่ร้านที่ดำเนินกิจการโดยผู้ประกอบการขนาดเล็กแบบดั้งเดิมถูกบังคับให้ต้องปิดบริการ
แม้ไทยจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME กี่แห่งที่สามารถฟื้นกลับมาได้อีกครั้งจากความเสียหายร้ายแรงครั้งนี้ แต่นักวิเคราะห์มองว่า กลุ่มบริษัทของ 5 ตระกูลมหาเศรษฐีของไทยยังมีโอกาสในวิกฤต ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่ธุรกิจต่างๆ ขาดแคลนเงินสดและเต็มไปด้วยหนี้สิน
บทความของเอเชียไทม์สระบุว่า 5 บริษัทของครอบครัวมหาเศรษฐีได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไทยเบฟ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ และบุญรอด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงชื่นชมจากคนบางกลุ่มเรื่องการควบคุมการระบาดของไวรัสในประเทศไม่ให้รุนแรง อย่างไรก็ตาม การตัดสินความสำเร็จในการบริหารจัดการการระบาดใหญ่ครั้งนี้ถูกมองว่าคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเมื่ือเดือนที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ได้มีจดหมายถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ 20 คน ซึ่งรวมถึงทั้ง 5 ตระกูลที่กล่าวมา เพื่อขอรับฟังข้อเสนอและแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน
ท่ามกลางรายงานที่ระบุว่ามีคนไทยอย่างน้อย 7 ล้านคนแล้วที่กลายเป็นคนว่างงาน นายกรัฐมนตรีระบุในส่วนหนึ่งของจดหมายดังกล่าวว่า “ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม”
ผู้วิจารณ์ได้โต้แย้งว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ควรทำมากกว่านี้ เนื่องจากมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ดูจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ มีประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนกว่า 20 ล้านคน ที่ลงทะเบียนโครงการรับเงินช่วยเหลือ 'เราไม่ทิ้งกัน' และเสียงวิจารณ์ก็อาจเพิ่มขึ้นอีกจากที่นายกรัฐมนตรีพึ่งพาบริษัทขนาดใหญ่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสให้กลับสู่สภาพปกติ ไม่ใช่เป็นการพึ่งพาบริษัทขนาดเล็ก
โดย 'นายธนินท์ เจียรวนนท์' ผู้ก่อตั้งเครือซีพีและประธานอาวุโส ได้ตอบกลับจดหมายของนายกรัฐมนตรี ด้วยการเน้นย้ำถึงการบริจาค 700 ล้านบาท ที่ทางบริษัทได้ดำเนินการตอบสนองต่อโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย และสิ่งที่ซีพีจะดำเนินการต่อไป เช่น แผนการเพิ่มรายได้เกษตรกร โครงการเรียนออนไลน์ และแผนพัฒนาชุดตรวจไวรัส การวิจัยและยารักษาโรค นอกจากนี้ ยังระบุว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงจ้างพนักงานทั้งหมดต่อไปซึ่งรวมถึงพนักงานร้านสะดวกซื้อและสร้างงานเพิ่มในเดือน มี.ค.
ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลระบุว่า ได้ทุ่มงบ 2,300 ล้านบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงกองทุนเพื่อซื้อสินค้าจากเกษตรกรและ SME เพื่อจำหน่ายในห้างต่างๆ ของบริษัท อย่างไรก็ตาม
อย่างไรก็ตาม บทความจากสื่อออนไลน์ในฮ่องกงแห่งนี้ชี้ว่า การสร้างสมดุลขององค์กรระหว่างการช่วยเหลือและการทำกำไรต้องใช้การจัดการที่ละเอียดอ่อนและการส่งสารที่มีทักษะในสังคมนี้ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในสังคมเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเอเชีย และช่องว่างความมั่งคั่งจะขยายกว้างขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ SME ล้มละลายและเกิดการว่างงาน
ทั้งนี้ โดยปกติธุรกิจ SME จ้างแรงงานร้อยละ 60 ของแรงงานไทย 39 ล้านคน และนักวิเคราะห์ด้านการเงินประเมินว่าตอนนี้มีธุรกิจ SME ไม่รู้จำนวน กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงล้มละลาย ขณะที่บริษัทจัดอันดับเครดิตฟิตช์ เรทติ้ง ระบุในรายงานว่า ร้อยละ 62 ของบริษัทไทยมีอันดับเครดิต (Rating Headroom) อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหมายความว่า บริษัทเหล่านี้ถูกมองจากหน่วยงานจัดอันดับว่ามีหนี้สินท่วมท้น ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ประเมินว่า เส้นทางที่เชื่อมโยงกับกลุ่มมหาเศรษฐี มีแนวโน้ม 'น่ากลัว' เพราะในสมัยอดีตรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นช่วงเวลาที่ได้เห็นเศรษฐกิจซบเซาและอัตรายากจนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 7.2 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 9.9 เมื่อปี 2561 ในขณะที่ทรัพย์สิน กิจการ และกำไรของกลุ่มคนเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เอเชียไทม์สระบุ ในจำนวนทั้ง 5 บริษัทใหญ่นี้ ไม่มีบริษัทใดที่ตอบกลับอีเมลขอความเห็นต่อบทความของเอเชียไทม์สเลย
รัฐบาลมีแนวโน้มพึ่งพา 'มหาเศรษฐีไทย' หรืออาจจะหันไปพึ่งทุนจีน
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะหดตัวร้อยละ 5.3 ขณะที่นักวิเคราะห์เอกชนให้ความสนใจไปที่ผลกระทบของวิกฤตการระบาดครั้งนี้ต่อการท่องเที่ยวที่โดยปกติจะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของจีดีพี แต่ภาคการท่องเที่ยวก็เจอผลกระทบหนักจากการปิดเขตแดนและโรงแรมเพราะโควิด-19 และมีอีกจำนวนหนึ่งที่คาดการณ์ถึงวิกฤตนี้ว่าจะกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งสัญญาณไม่ค่อยสดใสอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด
แน่นอนว่าทั้ง 5 ตระกูลและครอบครัวมหาเศรษฐีอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงักเช่นกัน เมื่อดูจากรายงานการจัดอันดับความมั่งคั่งของนิตยสาร Forbes เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าทรัพย์สินของพี่น้องเจียรวนนท์ลดลง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 29,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 27,300 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
ส่วนทรัพย์สินของตระกูลจิราธิวัฒน์ลดลงจาก 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 9,500 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะที่ 'นายเจริญ สิริวัฒนภักดี' ผู้ก่อตั้งไทยเบฟเวอเรจ มีทรัพย์สินลดลงจาก 16,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่ 10,500 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เอเชียไทมส์ระบุว่า มหาเศรษฐีเหล่านี้ก็มีทุนรองรับความเสี่ยงอยู่มากมาย โดยก่อนหน้านี้ธนาคารด้านการลงทุนอย่างเครดิตสวิส ระบุในรายงานความมั่งคั่งทั่วโลกที่เผยแพร่เมื่อปลายปี 2561 ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ประชากรเพียงร้อยละ 1 ถือครองความมั่งคั่งร้อยละ 67 ของความมั่งคั่งของประเทศ เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 58 เมื่อปี 2559
ดังนั้น ทั้ง 5 ตระกูลจะเป็นหนึ่งในผู้ซื้อไม่กี่รายในไทยที่มีเงินมหาศาลสำหรับการครอบครองทรัพย์สินด้อยคุณภาพจำนวนมากที่ธนาคารไทยจำเป็นจะต้องนำมาขายในตลาดอีกครั้งช่วงหลังโควิด-19 ในราคาที่ลดลงจากเดิมอย่างมาก เพื่อรักษางบดุลและสุขภาพทางการเงินของธนาคาร โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ทั้ง 5 ตระกูลคือหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุด ดีที่สุด และน่าเชื่อถือที่สุดของธนาคาร
เอเชียไทมส์รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ของกองทุนหุ้นนอกตลาดแห่งหนึ่งซึ่งให้ความสนใจกับเอเชียเป็นหลัก คาดการณ์ถึงโอกาสที่ตระกูลจิราธิวัฒน์จะทำให้สถานะในภาคธุรกิจท่องเที่ยวศักยภาพสูงของตัวเองแข็งแกร่งขึ้นด้วยการซื้อที่พักบูติกในย่านทำเลชั้นนำที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นโรงแรมตึกสูงได้ โดยภาคธุรกิจการท่องเที่ยวระดับบนถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นภาคที่ฟื้นตัวเร็วที่สุด
ขณะที่นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่งมองว่า วิกฤตทรัพย์สินจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มซีพีในการขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 ลงไปในจังหวัดต่างๆ และในอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น โดยเมื่อเดือน มี.ค. กลุ่มซีพีได้ปิดดีลซื้อหุ้นกิจการค้าปลีกเทสโกในไทยและมาเลเซียด้วยมูลค่าการซื้อถึง 10,600 ล้านดอลลาร์
ส่วนไทยเบฟซึ่งเติบโตร่ำรวยมหาศาลในหลายทศวรรษที่ผ่านมาจากธุรกิจแอลกอฮอล์ก็เพิ่งเข้าสู่ภาคการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยนักวิเคราะห์ก็คาดว่าบริษัทอาจใช้ประโยชน์จากวิกฤตนี้เป็นการขยายการสะสมที่ดินเพื่อการพัฒนาของตัวเองที่เติบโตอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม '5 ตระกูล' ก็ยังคงไม่สามารถดูดซับทรัพย์สินที่มีปัญหาจำนวนมากมายที่คาดว่าจะเข้าสู่การประมูลของธนาคารในเร็วๆ นี้ได้ ทำให้มีมุมมองจากบางส่วนว่า นี่อาจเปิดทางให้เกิดการซื้อจากจีน ซึ่งเอเชียไทม์สระบุว่า เป็นที่ทราบดีว่ากลุ่มซีพีมีสายสัมพันธ์กับผู้นำทางการเมืองระดับสูงในกรุงปักกิ่ง และได้อำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนของจีนในไทย แต่ก็ชี้ว่าอะไรก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นการฉวยโอกาสซื้อทรัพย์สินด้อยค่าของจีนก็จะมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเสียงเรียกร้องเพิ่มขึ้นในโลกตะวันตกให้จีนจ่ายเงินชดเชยความเสียหายและการสูญเสียจากการระบาดของไวรัส
ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสต่อต้านจีนบนโซเชียลมีเดียของไทย โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประณามจีนจากการระบาดของไวรัสซึ่งนำมาสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไทยเผชิญ และยังไม่ชัดเจนว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นก่อนหน้านี้หรือไม่หลังวิกฤตไวรัส
เอเชียไทม์สสรุปว่า พล.อ. ประยุทธ์จำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งอย่างระมัดระวังว่าจะพึ่งพา '5 ตระกูล' มากแค่ไหน และจะพึ่งพาจีนมากแค่ไหนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในอีกหลายเดือนหรือหลายปีข้างหน้า หากสามารถอยู่รอดทางการเมืองได้