นิตยสารฟอร์บสเผยผลจัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 โดยบทความภาคภาษาอังกฤษ รายงานว่า ครึ่งหนึ่งของอภิมหาเศรษฐีไทยมีรายได้รวมลดลง (Thailand's Richest 2019: Half Of Nation's Wealthiest See Fortunes Decline This Year) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมตลอดทั้งปี 2562 ที่ผ่านมา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว รวมถึงเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยและการเติบโตของภาคธุรกิจ ทำให้รายได้รวมของเหล่าอภิมหาเศรษฐีลดลงจากการจัดอันดับเมื่อปีก่อนหน้า
ขณะที่บทความของฟอร์บส ภาคภาษาไทย ระบุว่า สถานการณ์จากรอบโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมา โดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนกระทบการส่งออกและท่องเที่ยว อีกทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ร่วงลงไปเกือบ 1 ใน 3 เมื่อช่วงต้นปี 2563 แม้รัฐบาลไทยประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไทยก็จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19
"หลังจากเราวัดมูลค่าทรัพย์สินครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน 2562 ส่งผลให้ทรัพย์สินรวมของ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 มีมูลค่าทรัพย์สินรวมที่ 1.32 แสนล้านเหรียญ ลดลงเป็นจำนวน 18 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2.8 หมื่นล้านเหรียญ" ฟอร์บส ภาษาไทย ระบุ
ส่วนอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยติดอันดับ 1-10 ของไทยในปีนี้ ได้แก่
1. พี่น้องตระกูล 'เจียรวนนท์' เจ้าของธุรกิจอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีทรัพย์สินรวม 2.73 หมื่นล้านเหรียญ (8.92 แสนล้านบาท) ซึ่งถือว่าลดลงจากปีที่แล้ว
2. เฉลิม อยู่วิทยา ธุรกิจเครื่องดื่ม เครือกระทิงแดง ทรัพย์สินรวม 2.02 หมื่นล้านเหรียญ (6.6 แสนล้านบาท)
3. เจริญ สิริวัฒนภักดี ธุรกิจเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์ เครือไทยเบฟ มีทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านเหรียญ (3.43 แสนล้านบาท)
4. ตระกูลจิราธิวัฒน์ ธุรกิจค้าปลีก เครือเซ็นทรัล ทรัพย์สินรวม 9.5 พันล้านเหรียญ (3.1 แสนล้านบาท)
5. สารัชถ์ รัตนาวะดี ธุรกิจพลังงาน 'กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์' 6.8 พันล้านเหรียญ (2.22 แสนล้านบาท)
6. อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ มีทรัพย์สินรวม 3.8 พันล้านเหรียญ (1.24 แสนล้านบาท) ซึ่งถือว่าลดลง
7. ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ธุรกิจสีทาอาคาร TOA มีทรัพย์สินรวม 3.1 พันล้านเหรียญ (1.01 แสนล้านบาท)
8. ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ธุรกิจเครื่องดื่ม กลุ่มบริษัทโอสถสภา ทรัพย์สินรวม 3 พันล้านเหรียญ (9.8 หมื่นล้านบาท)
9. วานิช ไชยวรรณ ธุรกิจประกันชีวิต บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ทรัพย์สิน 2.8 พันล้านเหรียญ (9.15 หมื่นล้านบาท)
10. ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และดาวนภา เพชรอำไพ ธุรกิจการเงิน ทรัพย์สิน 2.65 พันล้านเหรียญ (8.66 หมื่นล้านบาท)
ส่วนอภิมหาเศรษฐีไทยอันดับ 11-50 ของฟอร์บส สามารถดูเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ช่วงเดียวกับที่ฟอร์บสเผย 50 อันดับอภิมหาเศรษฐีไทย นิตยสาร The Economist สื่อสายธุรกิจการเมือง เผยแพร่บทความ Thailand’s economy was suffering before the virus (เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ตั้งแต่ก่อนเจอไวรัส) โดยระบุว่าไทยสุ่มเสี่ยงที่จะถูกทิ้งให้ 'ตามหลัง' ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ทั้งยังประเมินว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์จากการท่องเที่ยว ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความเสียหายได้เลย
ดิอีโคโนมิสต์อ้างอิงตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า ภาวะตึงเครียดจากโรคโควิด-19 จะลากยาวไปจนถึงเดือน ก.ย.เป็นอย่างน้อย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 400,000 ล้านบาท
ทั้งยังระบุด้วยว่า มาตรการ Soft-Lockdown จำกัดการเดินทางและระงับกิจการบางส่วนของรัฐบาลไทยเพื่อรับมือกับโรคระบาด ก่อความสับสนเล็กน้อยให้กับกลุ่มนักลงทุน เพราะตอนแรกรัฐบาลประกาศว่า นักลงทุนที่มีใบรับรองแพทย์สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ แต่ภายหลังระบุว่า จะไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ พร้อมทั้งประกาศปิดกิจการหลายประเภทชั่วคราว รวมถึงออกคำสั่งเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหสถาน
อย่างไรก็ตาม ดิอีโคโนมิสต์ระบุว่า เศรษฐกิจของไทยย่ำแย่ตั้งแต่ก่อนจะเกิดโรคระบาดแล้ว โดยอ้างอิงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2552-2562 อยู่ที่ประมาณ 3.6 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ตามหลังหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ที่มีอัตราการเติบโต 6.5 เปอร์เซ็นต์ ฟิลิปปินส์ 6.3 เปอร์เซ็นต์ และมาเลเซีย 5.3 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังระบุด้วยว่า กลุ่มทุนที่ครอบครองส่วนแบ่งธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย เป็นของตระกูลใหญ่เพียงไม่กี่ตระกูล จึงไม่มีบรรยากาศการแข่งขันทางธุรกิจหรือนวัตกรรมมากนัก
ส่วนประเด็น 'ค่าแรงถูก' ที่เคยดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติในยุคหนึ่ง ไม่ใช่จุดขายที่เข้มแข็งของไทยอีกต่อไป นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 'มาสด้า' ได้ย้ายฐานการผลิตรถยนต์เอสยูวีไปที่ญี่ปุ่น และเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส ก็ถอนการผลิตไปจากไทยเช่นกัน ส่วนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระเบียงตะวันออกหรือ อีอีซี ก็ไม่ดึงดูดใจนักลงทุนมากนัก ถูกวิจารณ์ว่า "มีสีสัน แต่ด้อยประสิทธิภาพ"
นอกจากนี้ ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรมากกว่า 1 ใน 4 จะมีอายุเกิน 65 ปี ภายใน 30 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2050) แต่ประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้สูงวัยจะไม่มีเงินบำนาญหรือสวัสดิการที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และต้องพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานเป็นหลัก
สิ่งเดียวที่เรียกได้ว่าเป็นข้อดี ก็คือ 'ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ที่รับรองสิทธิของคนไทยทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นได้
ภาพปก: Adeolu Eletu on Unsplash