ไม่พบผลการค้นหา
Forbes ออกรายงานความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2019 พบว่า มหาเศรษฐีไทยต่างมีความมั่นคั่งลดลง เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวจากการลงทุนและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

นิตยสารฟอร์บส์ประกาศอันดับมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2019 ระบุความมั่นคั่งของมหาเศรษฐีไทยลดลง เหตุจากความไม่มั่นคงทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน ค่าเงินบาท รวมไปถึงดัชนีตลาดหุ้นให้ร่วงลงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลให้มูลค่ารวมทรัพย์สินของกลุ่มมหาเศรษฐีไทยลดลงจาก 162,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 160,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามอันดับมหาเศรษฐีไทยอันดับ 1 ยังคงเป็นกลุ่มพี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 2.95 หมื่นล้านเหรียญ (9.41 แสนล้านบาท) ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 3 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว


ธนินทร์_ซีพี.jpg

(นายธนินทร์ เจียรวนนท์ อดีตประธานกรรมการบริหารกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์)

อันดับ 2 เป็นของ ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีทรัพย์สินสุทธิ 2.1 หมื่นล้านเหรียญ (6.70 แสนล้านบาท) ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วที่ 2.12 หมื่นล้านเหรียญ 

ด้าน เฉลิม อยู่วิทยา แห่งกระทิงแดงยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 โดยมูลค่าทรัพย์สินลดลงมาอยู่ที่ 1.99 หมื่นล้านเหรียญ (6.35 แสนล้านบาท) จาก 2.1 หมื่นล้านเหรียญในปีก่อนหน้า และ เจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ยังคงครองอันดับ 4 ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 1.62 หมื่นล้านเหรียญ (5.17 แสนล้านบาท) ลดลง 1.2 พันล้านเหรียญ จาก 1.74 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2018 

ฟอร์บส์ระบุว่า ในปีนี้มีมหาเศรษฐีหน้าใหม่ขึ้นมาติดอันดับ 4 คน ได้แก่ ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเครือเบทาโกร บริษัทอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร โดยมีมูลค่าทรัพย์สิน 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทางด้านอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ซีอีโอ คิง เพาเวอร์ บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ซึ่งเป็นการสืบทอดดำแหน่งจากบิดา นายวิชัย ศรีวัฒนประภาซึ่งเสียชี��ิตด้วยอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าทรัพย์สิน 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 


คิงพาวเวอร์.jpg

(อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ซีอีโอ คิง เพาเวอร์ คนปัจจุบัน)

ขณะที่ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ก็ก้าวขึ้นติดทำเนียบมหาเศรษฐีหน้าใหม่เช่นกันด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนตระกูลมาลีนนท์ แห่งบริษัทสื่อ บีอีซีเวิลด์ ก้าวเข้ามาเป็นตระกูลมหาเศรษฐีหน้าใหม่ในทำเนียบด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทางด้านนายประชัย เลี่ยวไฟรัตน เจ้าของธุรกิจปูนซีเมนต์และคอนกรีต ทีพีไอ โพรลีน นั้นก็กลับเข้ามาอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีของไทยอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่หลุดจากทำเนียบของฟอร์บสไปนานถึง 5 ปี และนอกจากนี้ยังมีนายสราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ เจ้าของเครื่องสำอางค์สเนลไวท์ก็ยังคงติดอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีไทยเช่นกัน

บทความของฟอร์บส์ระบุว่า หากสมรรถภาพเศรษฐกิจไทยสามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ อาจจะเป็นการเปิดโอกาสการลงทุนและการเพิ่มผลิตผลของความมั่งคั่งให้กับผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทยอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยนั้นขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในอาเซียน โดย GDP ของไทยในช่วงตั้งแต่ปี 2015- 2018 นั้นขยายตัวเพียง 3.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ GDP ของกลุ่มอาเซียนขยายตัวเฉลี่ย 6.2 เปอร์เซ็นต์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง