ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิยเผยผลสำรวจ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อยุทธศาสตร์ชาติ กับอนาคตของประชาชน และ อนาคตของประเทศไทยที่ต้องการ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,150 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 5 - 15 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า อนาคตของประชาชนกับอนาคตของประเทศไทยที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ ร้อยละ 29.0 ระบุว่า ประชาชนคนไทยต้องมีงานทำมั่นคง มีเงินพอค่าครองชีพ ไม่ถูกคนต่างด้าวแย่งอาชีพ รองลงมาคือร้อยละ 22.6 ระบุ บ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย อันดับสาม ได้แก่ ร้อยละ 17.3 ระบุ ประชาชนมีระเบียบวินัย มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังต่อเนื่อง ควบคุมพฤติกรรมคนได้ อันดับสี่ได้แก่ ร้อยละ 10.6 ระบุ ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน อันดับห้า ได้แก่ร้อยละ 10.3 ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อกัน และ อันดับหก ได้แก่ ร้อยละ 10.2 ระบุเป็นพลเมืองที่ดี ต่อประเทศชาติ
จากการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มคนไทยวัยทำงานถึงเหตุผลว่า ทำไมเรื่อง การมีงานทำมั่นคง จึงขึ้นมาเป็นอันดับแรกแซงหน้าความสงบสุขของบ้านเมือง พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ แต่ปัญหาคนไทยไม่มีงานทำมั่นคงกระทบต่อคนไทยจำนวนมาก คนตอบส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้คนไทยถูกแย่งอาชีพหลายอย่างที่เคยทำอยู่อย่างมั่นคงต่อเนื่องมา บางพื้นที่แรงงานต่างด้าวผันตัวเองมาเป็นเจ้าของค้าขายจำนวนมาก เช่น อาชีพค้าขายอิสระ ขายผักขายปลา ขายผลไม้ในตลาดสด อาชีพทำอาหาร ทำครัว ขายก๋วยเตี๋ยว ขายส้มตำ พนักงานคิดเงินตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัยต่างๆ คนไทยถูกผลักออกไปทำอาชีพอิสระไม่มั่นคง หาเช้ากินค่ำ ไม่พอค่าครองชีพ จำนวนมากหันไปขายของออนไลน์ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐใดสนับสนุนส่งเสริม ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม บางคนจึงไปเล่นพนัน หวังรวยทางลัด ค้ายาเสพติด ก่ออาชญากรรม หลอกลวงต้มตุ๋น ฉ้อโกง ติดคุกมีคดีติดตัวขาดหน่วยงานรัฐดูแลชีวิตการงานของคนไทยให้มั่นคง จึงทำให้อันดับของความต้องการที่จะเห็นคนไทยมีงานทำมั่นคง มีเงินพอค่าครองชีพ ขึ้นมาเป็นอันดับที่หนึ่ง
นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่า แย่แล้ว ที่ผลสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 เคยได้ยินคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ แต่เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.9 ไม่รู้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติคืออะไร และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 ระบุ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ด้วยภาษาง่ายๆ ชาวบ้านจำได้ง่าย จะได้ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ชาติร่วมกันได้ดีขึ้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนจัดทำยุทธศาสตร์เขียนยุทธศาสตร์ชาติออกมาเยอะเกินไป โดยใช้ภาษาวิชาการห่างไกลตัวประชาชนและขาดกลยุทธ์ในการสื่อสารกับประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นคนออกแบบยุทธศาสตร์มุ่งแต่ใช้อำนาจรัฐ (State Power) ทำให้เกิดการเน้นการใช้กองกองกำลังปฏิบัติการที่ใช้งบประมาณสูง แต่ลงทุนด้านการหาข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำน้อยมาก ในการออกแบบยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญน้อย เช่นกันกับอำนาจจากภาคประชาชน (Non-State Power) ทำให้ออกแบบยุทธศาสตร์ได้ไม่ดีพอ ขาดพลังจากฐานรากของประชาสังคมสนับสนุน ประเทศไทยจึงอยู่ในวังวนของปัญหาและเสียงเรียกร้องเดิมๆ ต่อไป