วันที่ 14 มี.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ทำไมคนไม่รับสิ่งนายกฯ พูด กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,306 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9–13 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุว่า ทำไมคนไม่รับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.9 ระบุ ขาดข้อมูลที่ดี ไม่ตอบโจทย์ประชาชน
รองลงมาคือ ร้อยละ 50.6 ระบุ ไม่ถามประชาชนก่อน
ร้อยละ 34.7 ระบุ ทีมงานข้อมูล ทีมโฆษกรัฐบาลขัดแย้งกันภายใน
ร้อยละ 5.2 อื่น ๆ เช่น พูดเยอะหลายเรื่องสับสน ฟังไม่ชัด พูดเร็วรัวไป และเป็นเพราะสื่อมวลชน เป็นต้น
แนะเปลี่ยนทีมโฆษก
ที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบจาก ทีมงานข้อมูล ทีมโฆษกรัฐบาลต่อภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.5 ระบุ กระทบภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุกระทบค่อนข้างน้อย ถึง ไม่กระทบเลย
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 ระบุ ควรเปลี่ยนทีมงานข้อมูล ทีมโฆษกรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 23.2 ระบุควรทำงานต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึง ความรู้สึกและความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี พบว่า เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.8 สงสารนายกรัฐมนตรี เห็นว่าเหนื่อยแต่ควรทำงานต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 55.3 เห็นว่าควรปรับคณะรัฐมนตรี และ ร้อยละ 12.9 ระบุอื่นๆ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า จากการเกาะติดกับความเห็นของประชาชนมาตลอด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่สับสนกับข้อมูลที่ซ้ำเติมความตื่นตระหนกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ดังนั้น เพื่อดึงความเชื่อมั่นและวางใจต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาลควรลดบทบาทของทีมงานโฆษกรัฐบาลลงในช่วงวิกฤตศรัทธาเวลานี้เพราะ ทีมงานโฆษกรัฐบาลไม่ใช่กลุ่มคนที่ประชาชนเชื่อถือ แต่ควรนำคณะบุคคลที่น่าเชื่อถือของประชาชนออกมาพูดในแต่ละเรื่องที่เชี่ยวชาญ พูดแล้วประชาชนวางใจ ทั้งในเรื่อง โควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่ควรเยอะ แต่ทำเฉพาะเรื่องสำคัญๆ