ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย SIAM Lab กล่าวว่า เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน อินโดนีเซียมีอันดับด้านการต่อต้านคอรัปชั่นที่แย่กว่าประเทศไทย แต่ปัจจุบันกลับมีอันดับดีขึ้น จนเท่ากับประเทศไทย ดังนั้น จึงได้ศึกษาว่าอะไรทำให้อินโดนีเซียสามารถขยับสถานะด้านการต่อต้านการคอรัปชั่นขึ้นมาได้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำวิจัยด้วยการใช้ Text Mining หรือการวิเคราะห์คำหรือข้อความ ผ่านการเปรียบเทียบหาคำในเวบไซต์ข่าวบางกอกโพสต์และจาการ์ต้าโพสต์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550-2560) ด้วยสมมติฐานว่า อิทธิพลของภาษาและการสื่อสารมีผลต่อพฤติกรรมการรับรู้เรื่องคอรัปชั่น ซึ่งทำให้พบว่า การเสพสื่อเสพหนังสือพิมพ์มีผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคม เพราะการรับรู้เป็นเรื่องของ "อุปลักษณ์" หรือการเปรียบเทียบ
โดยคำที่พบในเว็บไซต์ข่าวบางกอกโพสต์บ่อยๆ ได้แก่ สีเหลือง สีแดง หลากสี สงคราม กองทัพ อาวุธ ความตาย ยานพาหนะ รถเมล์ เป็นต้น
ขณะที่ในจาการ์ตาโพสต์ พบว่า คำว่า กฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ อาชญากรรม ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวกับเรื่องใหญ่ๆ ขณะที่ของไทยมีคำที่เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศจำนวนมาก
ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัย SIAM Lab
'ถ้อยคำในสื่อ' ปลุกสังคมต้านคอรัปชั่น
การทดลองเปรียบเทียบนี้จึงมีผลสะท้อนถึงสถานการณ์ด้านการต่อต้านคอรัปชั่นของไทยกับอินโดนีเซีย ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนและอันดับภาพลักษณ์ดัชนีคอรัปชั่นหรือ ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI ) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) กรณีอินโดนีเซียกับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า แต่เดิมอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าไทยมาตลอด แต่ช่วง 1-2 ปีที่่หลังนี้ อินโดนีเซียกลับมาอยู่ในจุดเดียวกับไทย ขณะที่หน่วยงานที่เรียกว่า KPK ในอินโดนีเซียที่คล้ายสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ของไทย ก็เป็นองค์กรที่ได้รับการเชื่อถือจากสังคมอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก
"การรับรู้ทางภาษาจะส่งผลเข้าไปในสมองของมนุษย์ได้ลึกอย่างไม่รู้ตัว คณะวิจัยจึงเปรียบเทียบคำที่อยู่ในเวบไซต์ข่าวหนังสือพิมพ์ไทยและอินโดนีเซีย ที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงเหล่านี้" ดร.ต่อภัสสร์ กล่าว
ผลทดลองชี้ 'คนพูดเรื่องศีล 5 โกงมากกว่าคนอื่น'
ขณะที่ รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย SIAM Lab กล่าวว่า ในยุคที่ทุกคนยังเด็ก หลายคนอาจมองว่า การโกงข้อสอบเป็นเรื่องธรรมดามากของสังคมไทย แต่พอเราเริ่มโตขึ้น บางคนอาจเริ่มคิดได้ว่ามันไม่ถูก และเริ่มเห็นว่า สิ่งที่ทำนั้น มันไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้น จึงได้ใช้วิธี 'ทดลองเชิงเศรษฐศาสตร์' ซึ่งเป็นการออกแบบคล้ายสถานการณ์จริง เพื่อดูพฤติกรรมของนิสิตที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง แล้วพบว่า คนที่โกงข้อสอบมักทำคนเดียว เพื่อนไม่เกี่ยว แต่ถ้ามีเพื่อน ก็สามารถโกงมากขึ้น ส่วนคนที่พูดถึงศีล 5 ก็โกงมากกว่าคนอื่น เป็นต้น
ส่วนในวงเสวนาเรื่อง "หลากมิติคอรัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง : ประสบการณ์จากนักวิจัย" ซึ่งลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครราชสีมา และน่าน เพื่อศึกษามุมมองต่อพฤติกรรมคอรัปชั่นในระดับท้องถิ่น
เปิดมุมมอง 'คอรัปชั่น' : เรื่องราวจากหมู่บ้านจากปากนักวิจัย
นางสาวนิชาภัทร ไม้งาม นักวิจัยที่ลงพื้นที่ จ.น่าน เล่าว่า น่านเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีการพึ่งพิงเพื่อยั่งชีพ ยังมีความเป็นชุมชนที่แน่นแฟ้น อย่างไรก็ตาม มุมมองต่อคำว่า คอรัปชั่นของชาวบ้านจะเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในตัวอำเภอหรือเขตเทศบาลจะเห็นคอรัปชั่นคือการกินเปอร์เซ็นต์ ความไม่โปร่งใส การวิ่งงานในโครงการรับเหมาต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่มั่นใจและการต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำชุมชนของชาวบ้าน
"สิ่งที่พบจากการลงพื้นที่ คือพื้นที่ใกล้อำเภอ ชาวบ้านจะตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่นมากกว่าชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลออกไป" นางสาวนิชาภัทร กล่าว
ขณะที่ นายจิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ นักวิจัยที่ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ระบุว่า นครราชสีมา หรือ โคราชมีความแตกต่างระหว่างอำเภอ ซึ่งบางพื้นที่เป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท บางพื้นที่เป็นเมือง และบางพื้นที่เป็นชนบทชัดเจน ดังนั้นในพื้นที่ต่างๆ จึงมีการรวมกลุ่มกันภายในชุมชนเยอะ แต่การรวมกลุ่มข้ามพื้นที่น้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนครราชสีมามีพื้นที่กว้างและเดินทางลำบาก
"สำหรับมุมมองเรื่องคอรัปชั่นของชาวบ้านจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการทำตามกฎหมาย การเอื้อพวกพ้อง การซื้อสิทธิ์ขาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในโคราชมีการจัดสรรงบประมาณลงไปเยอะ และเป็นจังหวัดที่น่าจะได้รับงบประมาณมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในพื้นที่ก็มีกลุ่มทุนหลากลาย ซึ่งมีทั้งที่แข่งขันกันและตรวจสอบกันเองด้วย" นายจิรพันธ์ กล่าว
นายปกรณ์สิทธิ ฐานา นักวิจัยในพื้นที่กรุงเทพฯ กล่าวว่า กรุงเทพเป็นเมืองใหญ่และมีชุมชนเมืองขนาดใหญ่แบ่งเป็นเขต 50 เขต 2,000 ชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างกัน และรวมตัวเฉพาะแต่ละชุมชนแต่ละเขต ซึ่งพบว่า มุมมองเรื่องคอรัปชั่นคนกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มจัดตั้งชุมชน และกลุ่มจัดตามที่อยู่อาศัย ซึ่งพบว่า ชาวบ้านที่ให้ความสนใจกับการทำงานของคณะกรรมการชุมชน เรื่องงบประมาณ การแบ่งงาน
'เปิดเผยข้อมูล' ปิดหนทางคนคอรัปชั่น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยทั้ง 3 มีข้อเสนอเชิงนโยบาย หลังจากลงพื้นที่ทำวิจัยมาได้ 1 ปี ว่า ในกรณี จ.น่าน เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องคอรัปชั่น และจำนวนมากไม่รู้ว่าพฤติกรรมของตัวเองบางอย่างเข้าข่ายเป็นการคอรัปชั่น เช่น การรับเงินสงเคราะห์หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐ ด้วยการใส่จำนวนผู้มีสิทธิ์รับเงินให้เยอะๆ ไว้ก่อน ส่วนที่นครราชสีมา ก็มีปัญหาคือผู้ได้รับข้อมูลจะอยู่ในกลุ่มมีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปกลับเข้าไปถึง
ดังนั้น ทั้งนางสาวนิชาภัทร ที่ทำวิจัยใน จ.น่าน และ นายจิรพันธ์ที่ทำวิจัยใน จ.นครราชสีมา จึงเสนอว่า การแก้ปัญหา คือการเปิดข้อมูล การทำให้คนทุกคนได้เข้าถึงข้อมูล
ส่วนกรณีของกรุงเทพมหานคร นายปกรณ์สิทธิ ระบุว่า ต้องออกแบบกลไกการทำงานของคณะกรรมการชุมชนให้เป็นระบบชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกคน และที่สำคัญต้องมีการเปิดเผยข้อมูลแบบรายเดือน เพื่อให้สามารถติดตามคณะกรรมการชุมชนว่า ใครใช้งบพัฒนาทำอะไร และมีความคืบหน้าอย่างไรได้
นอกจากนี้ ดร.ต่อภัสสร์ ยังให้มุมมองว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรต้านคอรัปชั่นมากถึง 27-28 แห่ง แต่แต่ละองค์กรก็มีภารกิจและโจทย์ของตัวเองที่ต้องแก้ไข พร้อมกับย้ำว่า เรื่องมุมมองของคอรัปชั่นไม่ได้อยู่ที่การจัดซื้อจัดจ้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายมิติ ที่ต้องคำนึงถึง
ทั้งนี้ การจัดเสวนา 'Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม' สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism design Lab) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง