ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เผยแพร่บทความงานวิจัยจากการจัดทำ 'ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย' กับผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน การผลิต ชี้ 20 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยขัดแย้งรุนแรง 3 ครั้ง ฉุดจีดีพีตกร้อยละ 1 กว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 1-2 ไตรมาส

หลังเหตุการณ์ 'พฤษภา 2535' และ 'วิกฤตเศรษฐกิจ 2540' ประเทศไทยเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองในห้วงเวลา 20 ปีที่่ผ่านมา (2540-2560) ที่แตะถึงจุดสูงสุดมาถึง 3 ครั้ง ได้แก่ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในช่วงไตรมาส 1/2549, การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงไตรมาส 2/2553 และการชุมนุนใหญ่ของ กปปส. ระหว่างไตรมาส 4/2556 ถึงเดือน พ.ค. 2557 

โดยเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ได้ปะทุสู่ความรุนแรงและนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือ รัฐประหารกันยายน 2549 และรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจนถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคในทุกเหตุการณ์ความไม่แน่นอนเหล่านั้น 

ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จึงเผยแพร่บทความและให้ทุนสนับสนุนแก่ 2 นักเศรษฐศาสตร์ เพื่อศึกษาวิจัยหาคำตอบถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ด้วยการสร้าง 'ดัชนีวัดระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย' โดยอาศัยข้อมูลจากหน้าหนังสือพิมพ์ไทย ในช่วงตั้งแต่ปี 2540-2560 

ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมือง

'ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม' คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ใน 2 ผู้เขียนบทความ เปิดเผยว่า การสร้างดัชนีชี้วัดระดับความไม่แน่นอนทางการเมือง จัดทำโดยอาศัย 'คำสำคัญ' หรือ 'Key Word' ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทย 5 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด และคมชัดลึก แล้วนำ 'คำสำคัญ' มานับจำนวนในบทความ, ข่าว ที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์รายวันในแต่ละเดือน เทียบกับจำนวนข่าวการเมืองที่มีทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง และสร้างเป็นดัชนีวัดระดับความไม่แน่นอน

พร้อมกับแบ่งประเภทของความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ออกเป็น 5 ด้าน หรือ 5 คีย์เวิร์ด ได้แก่ 1) ชุมนุม, ขัดแย้ง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มข่าวความขัดแย้งจากการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง 2) สถานการณ์ฉุกเฉิน, กฎอัยการศึก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มข่าวการใช้มาตรการทางการดูแลหรือยับยั้งความขัดแย้ง 3) ยุบสภา, เลือกตั้ง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มข่าวที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย 4) ปฏิวัติ, รัฐประหาร ซึ่งอยู่ในกลุ่มข่าวที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรง หรือ ระบบรัฐสภา และ 5) การเมือง, ปฏิรูป, รัฐธรรมนูญ, รธน., ยกร่าง, แก้ไข ซึ่งอยู่ในกลุ่มข่าวที่เกี่ยวกับกติกาและโครงสร้างทางการเมือง 

โดยพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2540-2560) ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาทั้งหมด 9 คน และแนวโน้มของเส้นกราฟดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองก็เพิ่มสูงขึ้น และปะทุขึ้นรุนแรงใน 3 ครั้ง ในระหว่างปี 2549-2557 ขณะเดียวกัน ยังพบว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังการรัฐประหาร ทั้งในการรัฐประหารกันยายน 2549 และรัฐประหารพฤษภาคม 2557 

ดัชนีความไม่แน่นอน

นั่นเพราะ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย มีองค์ประกอบจากความไม่แน่นอน 2 ส่วน ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา ผ่านคำสำคัญในข่าว เช่น การชุมนุม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกฎอัยการศึกษา กับความไม่แน่นอนทางการเมืองในระบบรัฐสภา เช่น การเลือกตั้ง การปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งก่อนและหลังการรัฐประหาร 2549 ความไม่แน่นอนทางการเมืองของทั้ง 2 ด้านนี้ยังสอดคล้องสัมพันธ์กัน 

แต่หลังรัฐประหาร 2557 กลับพบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา กับในระบบรัฐสภาสวนทางกัน โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วง "ลดลง" แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้ง ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองกลับ "เพิ่มขึ้น"

ดังนั้น เมื่อดูภาพรวมแล้วอาจเห็นว่า หลังรัฐประหารในทั้ง 2 ครั้ง ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองหายไป เพราะเมื่อดูไส้ในก็จะพบว่า ความไม่แน่นอนจากการชุมนุมประท้วงลดลง แต่กลับมีความไม่แน่นอนจากการปฏิรูปทางการเมือง การเลือกตั้งสูงขึ้น

"โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2557 ยิ่งเห็นชัดขึ้น และทำให้คาดว่า หากมีการเลือกตั้งในอนาคต ก็ไม่ได้หมายความว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองด้านอื่นจะลดลงด้วยเช่นกัน" ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าว


ดัชนีความไม่แน่นอน


อีกด้านหนึ่ง การศึกษาวิจัยยังพบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2559 บทความและข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์กลุ่มตัวอย่าง กลับพบว่า มีคำว่า 'ปฏิรูปทางการเมือง' เพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของบทความและข่าวที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งหมด สะท้อนว่า ประเด็นการปฏิรูปทางการเมืองกลายเป็นแหล่งที่มาหลักของความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะหลังนี้เช่นกัน 

ความไม่แน่นอนทางการเมืองและผลต่อเศรษฐกิจมหภาคและตลาดทุน

รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดจากการชุมนุม และความขัดแย้งจากการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง จะมีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ให้ลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 0.4 ขณะที่ 'คำสำคัญ' ตัวอื่นๆ มีผลให้จีดีพีลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.1-0.2 

ขณะที่ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วง 1-2 ไตรมาส หลังจากมีความไม่แน่นอนต่างๆ แล้วเมื่อผ่านไปประมาณ 1 ปีจะค่อยๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลจากความไม่แน่นอนจากการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง จะใช้เวลานานกว่าด้านอื่นๆ 

จากการวิเคราะห์ในรายองค์ประกอบยังพบว่า การลงทุนภาคเอกชน จะได้รับผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง การชุนนุม และการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ คือ มีน้ำหนักให้เกิดปรวนแปรในการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนสูงถึงร้อยละ 16 และทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงได้ถึงร้อยละ 1.5 ขณะที่ ผลต่อการบริโภคภาคเอกชนมีบ้างแต่น้อยกว่าการลงทุนภาคเอกชน 

อีกด้านหนึ่ง ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการชุมนุมและการเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายบริโภคของประชาชนต่อเนื่อง 2-4 ไตรมาส โดยจะมีผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ มากกว่าสินค้าไม่คงทน ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองนอกระบบรัฐสภาส่งผลกระทบต่อกิจการด้านโรงแรมสูงสุด และรองลงมาได้แก่ การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และบริการขนส่ง ตามลำดับ 

ส่วนตลาดทุน หรือ หุ้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้ง การชุมนุม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก การปฏิวัติรัฐประหาร และการปฏิรูปทางการเมือง จะมีผลให้ตลาดหุ้นผันผวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีผลเชิงลบต่อดัชนีและผลตอบแทนจากการลงทุนของนักลงทุน   

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ นอกจากจะให้ข้อมูลถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ในอีกด้านหนึ่งยังช่วยเป็นข้อมูลอ้างอิงในการประเมินระดับความรุนแรงของความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อวิเคราะห์ในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยและเฝ้าระวังปัญหาและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคตได้