โครงการรัฐศาสตร์เสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา หัวข้อ "Anti-Corruption Politics : สู้กับทุจริตเพื่ออะไร?" โดย ศาสตราจารย์ โยชิฟูมิ ทามาดะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวและทำวิจัยเกี่ยวกับการเมืองไทยมากว่า 30 ปี ชี้ว่า 'การทุจริต' เป็นปัญหาใหญ่ แต่การต่อต้านทุจริตเป็นปัญหาใหญ่กว่า สำหรับการเมืองแบบประชาธิปไตย แม้ว่าต้องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ไม่ควรทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยเปรียบเทียบ 'การทุจริต' คือโรคมะเร็ง
ส่วน 'ประชาธิปไตย' คือผู้ป่วย หากเราจะรักษาโรคมะเร็ง ต้องฆ่ามะเร็ง ไม่ใช่ฆ่าผู้ป่วย ดังนั้น หากมีความเข้าใจไม่เพียงพอ 'การทุจริต' จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการทำลายระบอบประชาธิปไตยง่ายขึ้น จึงขอเสนอให้จัดทำวิชา 'การทุจริตวิทยา' เพื่อให้ประชาชนเข้าใจปัญหานี้ดีขึ้น
สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์ ทามาดะ มองว่า การทุจริตเป็นต้นเหตุของเผด็จการทหาร โดย กปปส. และกลุ่มพันธมิตรฯ อ้างความร้ายแรงของการทุจริต เรียกร้องการแก้ปัญหาและการปฏิรูป ซึ่ง 'คนดี' เหล่านี้ ปฏิเสธทั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และประชาธิปไตย จึงสรุปได้ว่า การปราบปรามทุจริตในไทย ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าทางเศรษฐกิจ โดยใช้ลบความชอบธรรมจากสิ่งที่คู่ต่อสู้ทางการเมืองกำลังดำเนินการอยู่ รวมไปถึงกระบวนการหรือพฤติกรรมที่ตัวเองไม่ชอบ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็ด่าการทุจริต จนถึงรังเกียจการเมืองที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดวิกฤตการเมือง
แม้จะมีองค์กรภาคประชาชนในไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการทุจริต แต่ก็พบว่า นักวิชาการและ NGO บางส่วนได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ จนกลายเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง (Anti-Corruption Industry) ซึ่งพบว่า บูม (Boom) มากในเมืองไทย
(ศาสตราจารย์ โยชิฟูมิ ทามาดะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น )
ศาสตราจารย์ ทามาดะ มองว่า ประชาชนที่สนับสนุนการรัฐประหาร ทั้งในปี 2549 และ 2557 หวังว่า ทหารจะแก้ปัญหาการทุจริตให้ และเมื่อขจัดการทุจริตเสร็จสิ้น การเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรียกวิธีนี้ว่า Good Governance Coups หรือการรัฐประหารเพื่อธรรมาภิบาล เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศปากีสถาน และบังกลาเทศ แต่ท้ายที่สุดพบว่า "ไม่มีที่ไหนปราบทุจริตสำเร็จ แถมยังทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายด้วย"
ดังนั้น เราควรไว้วางใจประชาชนมากขึ้น และให้การเลือกตั้ง เป็นวิธีในการตรวจสอบอำนาจ แม้ประชาชนตรวจสอบไม่เก่ง และอาจตรวจสอบผิดพลาด แต่ก็ดีกว่าไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย