ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พบว่า ภาพรวมการเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายแล้ว 9 อำเภอของจังหวัดน่าน คือ สันติสุข, ปัว, แม่จริม, ทุ่งช้าง, ท่าวังผา, เมืองน่าน, เชียงกลาง, ภูเพียง, และเวียงสา
โดยปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่าน จะไหลผ่าน อ. เมืองน่าน และ อ.เวียงสา ลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด ปัจจุบันเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำในอ่าง 6,429 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่าง คาดว่า จะมีน้ำไหลลงเขื่อนประมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำในอ่าง 767 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 108 ของความจุอ่าง น้ำล้นทางระบายล้น 130 เซนติเมตร และมีน้ำไหลลงอ่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้มีน้ำไหลลงอ่าง 37 ล้านลูกบาศก์เมตร และไหลล้นทางระบายน้ำล้นวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้บริหารจัดการน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนแก่งกระจานในอัตรา 240-250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยใช้เขื่อนเพชรบุรีบริหารจัดการตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทาน ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา และคลองระบาย D9 รวม 90-100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วระบายผ่านท้ายเขื่อนเพชรบุรีในอัตรา 125-130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ปัจจุบันระดับน้ำในเขตเทศบาลเมืองยังต่ำกว่าตลิ่ง 46 เซนติเมตร
ขณะที่ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำในอ่าง 7,940 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 90 ของความจุอ่าง มีน้ำไหลลงอ่าง 105 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำออกวันละ 42 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสถานการณ์ยังปกติและไม่มีน้ำล้นตลิ่ง ส่วนการบริหารจัดการน้ำที่ระบายจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์จะไหลมารวมที่เขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ซึ่งควบคุมปริมาณน้ำที่จะระบายผ่านท้ายเขื่อนแม่กลองให้ไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันระบายน้ำที่อัตรา 754 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากระบายมากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเริ่มมีผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและบางจุดบริเวณท้ายน้ำ
สธ. น่าน เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน พร้อมรับพายุ 'เบบินคา'
โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ EOC ติดตามสถานการณ์ เตรียมรับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเบบินคาและให้หน่วยบริการทุกแห่งเตรียมป้องกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน สำรองยา เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอ พร้อมจัดหน่วยแพทย์ออกให้บริการประชาชนผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
โดยที่โรงพยาบาลน่าน ได้รับรายงานจากนายแพทย์ภราดร มงคลจาตุรงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ว่า สามารถป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลได้ เนื่องจากได้ดำเนินการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและจัดการสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้
1.ติดตามระดับน้ำอย่างต่อเนื่องและวางกระสอบทรายในจุดเสี่ยง พร้อมเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ในหน่วยงานที่เสี่ยงไปยังที่ปลอดภัย
2.เตรียมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากตึกผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ต่ำเมื่อระดับน้ำเข้ามาในระดับเสี่ยง
3.จัดอัตรากำลังบุคลากร ทดแทนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยไม่สามารถมาขึ้นปฏิบัติงานได้
4.จัดระบบการรักษาพยาบาลในสถานการณ์น้ำท่วมทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยทั่วไป จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมนำยา เวชภัณฑ์ ชุดทำแผล ออกตรวจรักษาในพื้นที่ มอบยาชุดน้ำท่วมให้อสม. นำไปแจกจ่าย และเตรียมแผนส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วมมายังโรงพยาบาลโดยเรือกู้ภัยและรถพยาบาล รวมทั้งจัดรถรับ-ส่งเจ้าหน้าที่ เตรียมน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องปั่นไฟ อาหารสำหรับผู้ป่วย
ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงภัยในช่วงวันที่ 17-20 สิงหาคมนี้ ได้แก่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และเลย ให้เฝ้าระวังดินถล่มเป็นพิเศษ และเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก