ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊กลำดับเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และ 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก ประธานเครือข่ายเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. จากการชุมนุมร่วมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยพนักงานสอบสวนได้เร่งนำตัวสองแกนนำขออำนาจศาลอาญาฝากขัง
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเรื่องการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก และรอผลตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา ทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสองคน ระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งสองคนก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และคดีไม่มีความจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาเอาไว้ ทั้งยังยืนยันว่าคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ พร้อมกับยื่นคำร้องในการประกันตัวเตรียมไว้หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง
โดยอานนท์ ยังได้แถลงขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่ากระบวนการฝากขังเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นนอกเวลาราชการ คือหลังเวลา 16.00 น. ทั้งยังเห็นว่าไม่ควรนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
ต่อมาเวลา 20.35 น. อานนท์และภาณุพงศ์ได้ตัดสินใจยื่นขอถอนคำร้องขอประกันตัว ทำให้หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทั้งสองคนจะถูกนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทั้งสองคนยังเขียนข้อความแสดงจุดยืนในการไม่ขอประกัน
เวลาประมาณ 21.30 น. รองอธิบดีศาลอาญาได้มาเป็นผู้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังด้วยตนเอง หลังพนักงานสอบสวนให้การตามคำร้องขอฝากขัง ทนายความผู้ต้องหาได้ถามค้านว่า คำร้องขอฝากขังที่อ้างว่ามีเหตุในการฝากขังคือ รอสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก รอผลพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากรนั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา อีกทั้งพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมหลักฐานซึ่งเป็นคลิปการปราศรัยได้อยู่แล้วโดยผู้ต้องหาไม่สามารถยุ่งเหยิงพยานหลักฐานดังกล่าวได้ และการออกหมายจับโดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อนทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในคดีอื่นของ สน.สำราญราษฎร์ ที่ผู้ต้องหาเป็นจำเลยอยู่นั้น ก็มีการออกหมายเรียกก่อน และผู้ต้องหาก็ให้ความร่วมมือตามกระบวนการไม่เคยหลบหนี จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายจับในคดีนี้
พนักงานสอบสวนตอบว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี จึงสามารถออกหมายจับตามกฎหมายได้อยู่แล้ว
ทนายความถามอีกว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาฝากขังต่อศาลหลังเวลาราชการ ทราบหรือไม่ว่าศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษายกคำร้องฝากขังแล้ว
ทนายความผู้ต้องหาถามพนักงานสอบสวนว่า เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนสามารถชุมนุมได้ใช่หรือไม่ แต่ศาลแย้งว่า ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นไต่สวนฝากขัง จึงไม่บันทึกให้ แต่ทนายแถลงว่าเป็นประเด็นโดยตรงที่ผู้ต้องหาถูกออกหมายจับและนำตัวมาฝากขังและยืนยันให้ศาลบันทึก
เวลาประมาณ 21.50 น. ศาลอ่านคำสั่ง มีใจความว่า พิเคราะห์แล้วได้ความจากพนักงานสอบสวน ตอบทนายผู้ต้องหาถามค้านได้ความว่า นำตัวผู้ต้องหามาฝากขังหลังเวลา 16.00 น. จึงมีคำสั่งให้คืนคำร้องขอฝากขัง ให้ผู้ร้องรับตัวผู้ต้องหาคืน และยื่นคำร้องขอฝากขังภายใน 48 ชั่วโมงตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังศาลออกจากห้องพิจารณาไปแล้ว อานนท์และภาณุพงศ์ยังนั่งอยู่ในห้องพิจารณา ยืนยันว่าจะไม่ไปสถานีตำรวจ เนื่องจากตำรวจหมดอำนาจควบคุมตัวแล้ว
เวลา 22.45 น. ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล และ รปภ. ตั้งแถวรอเตรียมจะพาตัวอานนท์และภาณุพงศ์ ไป สน.สำราญราษฎร์ ทนายความและประชาชนจึงเข้ายืนขวาง และยืนยันว่าตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวแล้ว
เวลา 23.10 น. ทนายผู้ต้องหาแจ้งว่า รองอธิบดีศาลอาญาลงมาชี้แจงว่าตำรวจยังมีอำนาจในการควบคุมตัวแต่ศาลจะไม่ออกหมายขัง
เวลา 23.20 น. ตำรวจไม่น้อยกว่า 30 นาย ตั้งแถวเพื่อรอรับตัวทั้งสองไปขังที่สถานีตำรวจ
เวลา 23.30 น. อานนท์ไม่ยินยอมให้ตำรวจพาไปขังที่สถานีตำรวจ จึงยืนเฉยๆ และกล่าวกับตำรวจว่า "ถ้าคิดว่ามีอำนาจจับก็จับไป" แต่ตำรวจพยายามผายมือเชิญ ไม่จับ ขณะที่ประชาชนตะโกนว่า "ข้าราชการ ต้องรับใช้ ประชาชน"
เวลา 23.35 น. ตำรวจหิ้วตัวอานนท์และภาณุพงศ์ ขึ้นรถตู้ตำรวจออกจากศาลอาญา ขณะประชาชนตะโกน "หยุดอุ้มประชาชน" โดยยังไม่รู้ว่าจะนำตัวไปขังที่ใด
ภาพ - ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง