นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ( คพ.)เปิดเผยว่า คพ.ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ภายหลังจากที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างในวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ด้วยวงเงินจ้างทั้งสิ้น 454,762,865.73 บาท และได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาควบคุมงาน ซึ่งในการดำเนินงานของโครงการฟื้นฟูฯ ประกอบด้วย 6 กิจกรรมหลัก คือ 1) การสำรวจพื้นที่การวางแผนการดำเนินงาน และการกำหนดมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน 2) การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย 3) การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ 4) การฟื้นฟูพื้นที่รอบโรงแต่งแร่เดิม 5) การก่อสร้างฝายดักตะกอน และ 6) การจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ของการปนเปื้อนในพื้นที่ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา
นางสุณี กล่าวว่า การฟื้นฟูพื้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้รับจ้างได้จัดทำแผนการดำเนินงานของโครงการในภาพรวม ได้สำรวจสภาพทั่วไปและจัดทำรังวัดและหมุดอ้างอิงระดับของพื้นที่ดำเนินโครงการ ได้ปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการจัดทำหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย และได้รวบรวมข้อมูลและกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นางสุนีระบุว่าคพ.จะเร่งดำเนินการก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2562 เพื่อเตรียมรองรับตะกอนที่จะเริ่มดำเนินการขุดลอกภายหลังหลุมฝังกลบแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ คพ.ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ชาวบ้านและนักวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านและรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการดำเนินโครงการ โดยได้กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีฯ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน
ในส่วนของติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่คลิตี้ คพ.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยคุณภาพสิ่งแวดล้อมในช่วงเดือนมีนาคมพบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน สัตว์น้ำ เช่น ปู และหอย ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ส่วนเนื้อปลา พืชและผักยังสามารถบริโภคได้ตามปกติ
ก่อนหน้านี้โรงแต่งแร่ในหมู่บ้านคลิตี้ล่างดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2510 ต่อมาในปี 2518 ชาวบ้านพบว่ามีการปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยและมีปลาตายจำนวนมาก กระทั่งในปี 2521 จึงได้ร้องเรียนต่อทางเหมืองและโรงแต่งแร่ และในระหว่างช่วง 2532 - 2541 ชาวบ้านมีอาการเจ็บปวด บางรายตาบอดสนิท และเริ่มทยอยเสียชีวิต จนกระทั่งวันที่ 30 ม.ค.2546 ชาวบ้าน 8 รายได้ยื่นฟ้องบริษัทแต่งแร่ ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เนื่องจากปล่อยสารตะกั่วจากโรงงานแต่งแร่ลงลำห้วยเป็นเหตุให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจนเจ็บป่วยและมีสัตว์เลี้ยงล้มตายจำนวนมาก
ต่อมาศาลฏีกามีคำพิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน โดยกรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ต้องกำจัดมลพิษซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินการฟื้นฟูจนกว่าลำห้วยจะกลับมาปกติเหมือนเดิม