นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำท่าจีน ในปี 2560 พบว่า แม่น้ำท่าจีนตอนบนมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ เทียบได้กับแหล่งน้ำประเภทที่ 3 เหมาะสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร
ส่วนแม่น้ำท่าจีนตอนกลางและตอนล่างมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม เทียบได้กับแหล่งน้ำประเภทที่ 4 เหมาะสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม โดยช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ช่วงอำเภอบางเลนถึงอำเภอสามพราน มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ซึ่งเสื่อมโทรมลงกว่า ปี 2559
อย่างไรก็ตาม แม่น้ำท่าจีนตอนบนมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี เทียบได้กับแหล่งน้ำประเภทที่ 2 เหมาะสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง การว่ายน้ำ และกีฬาทางน้ำ
ทั้งนี้ ปัญหาคุณภาพน้ำส่วนใหญ่เกิดจากการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ ได้แก่ ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม โดยจังหวัดนครปฐมมีคลองหลักมากกว่า 10 คลอง และคลองย่อยอีกจำนวนมากที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ รวมทั้งปัญหาการแพร่กระจายของวัชพืชน้ำ และมีการปิดประตูระบายน้ำในบางช่วงเวลา ทำให้การไหลเวียนของน้ำช้าลง ส่งผลให้คุณภาพน้ำในคลองรวมถึงแม่น้ำท่าจีนอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม
นางสุณี กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในคลองสาขาลุ่มน้ำท่าจีน จำนวน 11 คลอง ได้แก่ คลองดิน คลองสามควายเผือก คลองสุคต คลองบางเก็ง คลองโรงเจ คลองควาย คลองสำโรง คลองโยง คลองมหาสวัสดิ์ คลองเตยและคลองอ้อมใหญ่ ซึ่ง คพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองสาขาลุ่มน้ำท่าจีน
ประกอบด้วย 4 แผนงาน คือ แผนงานที่ 1 การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ และเพิ่มการไหลเวียนของน้ำ แผนงานที่ 2 การปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลอง แผนงานที่ 3 การเผยแพร่ความรู้และสร้างจิตสำนึกให้แก่ทุกภาคส่วน และแผนงานที่ 4 การติดตามประเมินผล
ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมมลพิษ จึงได้มีกำหนดจัดอบรม เรื่อง 'สถานประกอบการรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์ท่าจีน' ในวันที่ 10 พ.ค. 2561 ณ โรงแรม ไมด้า แกรนด์ ทวารวดี จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน ให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและดูแลปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ความรู้ด้านเทคนิควิชาการในการจัดการน้ำเสียแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และภายหลังจากนี้จะมีติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ลุ่มน้ำจีน ให้มีการระบายน้ำเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คพ. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ หลังบ่อน้ำเสียโรงงานเอทานอลพังทลาย