นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบสะอาด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ และบริเวณโดยรอบ ให้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สะอาด และปลอดภัย มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่ยั่งยืน คพ. ได้ดำเนินมาตรการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย โดยเข้าตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงแรม อาคารชุด ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ร้านอาหาร และที่ดินจัดสรร ในพื้นที่ 21 เขต ริมคลองแสนแสบ พร้อมสำรวจความคิดเห็นด้านความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คพ.
นางสุณี กล่าวว่า ผลการตรวจสอบในปี 2559-2560 จำนวน 631 แห่ง พบว่ามีแหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน 412 แห่ง หรือ ร้อยละ 66 จึงได้ดำเนินการใช้มาตรการทางปกครองออกคำสั่งให้แหล่งกำเนิดมลพิษปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย และใช้มาตรการปรับรายวันสำหรับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฯ จำนวน 119 แห่ง ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดในอัตรา 2,000 บาท/วัน ในส่วนการสำรวจความคิดเห็นด้านความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คพ. พบว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าตรวจสอบมีความเชื่อมั่นต่อความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่ คิดเป็นร้อยละ 90
นางสุณี กล่าวว่า ในปีนี้ คพ. ยังคงเดินหน้าใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ระบายน้ำทิ้งเกินมาตรฐาน และจะเข้าตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารที่ทำการทั้งของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศ และเอกชน ในช่วงเดือนพ.ค. – ก.ค. 2561 และจะประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูล และน้ำเสียลงคลองโดยตรง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชน ช่วยกันดูแลและฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ ให้ปัญหามลพิษทางน้ำบรรเทาความรุนแรงลง มีคุณภาพน้ำดีขึ้น โดยให้คำนึงถึงลูกหลานในอนาคตต่อไป