ไม่พบผลการค้นหา
ผลการวิจัยใหม่ค้นพบว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ของประเทศสวีเดน เช่น สตอกโฮล์ม โกเธนเบิร์ก และมัลโม กำลังมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่ม 1 ปี เนื่องจากระดับมลพิษทางอากาศลดลง
89.jpg

ผลการวิจัยเผยแพร่บนเว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติด้านบรรยากาศศาสตร์ (Atmospheric Chemistry and Physics) ระบุว่า นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Department of Environmental Sciences) และหน่วยงานวิเคราะห์ทางเคมี (Analytical Chemistry) ร่วมมือกันทำการศึกษาข้อมูลจากสถานีตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลาง 3 เมืองใหญ่ของประเทศสวีเดน ได้แก่ สตอกโฮล์ม โกเธนเบิร์ก และมัลโม โดยติดตามระดับไนโตรเจนออกไซด์ โอโซน และอนุภาคในอากาศช่วงปี 1990-2015

ทีมนักวิจัยค้นพบว่า ความเข้มข้นของไนโตรเจนออกไซด์ลดลงเห็นได้ชัด และเป็นไปในปริมาณเกือบเท่าๆ กันทั้ง 3 เมือง คือลดลงจากประมาณ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 1990 เป็น 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2015 ทั้งในเมืองสตอกโฮล์ม และเมืองมัลโม ส่วนเมืองโกเธนเบิร์กลดลงจาก 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 1990 เป็นประมาณ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2015

อย่างไรก็ตาม แม้ทีมนักวิจัยจะสังเกตเห็นระดับของอนุภาคต่างๆ และระดับโอโซนสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เฮนริก อัลสตรัป (Henrik Olstrup) หนึ่งในผู้ร่วมทีมวิจัยอธิบายว่า “โดยรวมแล้วคุณภาพอากาศดีขึ้นทั้ง 3 เมือง ซึ่งนำไปสู่สุขภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วย และคาดการณ์ว่า อายุเฉลี่ยของประชาชนจะเพิ่มขึ้นได้มากถึง 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากระดับการปล่อยไอเสียจากการจราจรบนท้องถนนมีปริมาณลดลง”

สำหรับตัวเลขของอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเกิดจากประชากรคำนวณจากความเสี่ยงต่อสุขภาพของการสัมผัสกับไนโตรเจนออกไซด์ โอโซน และอนุภาคระดับมลพิษทั่วทั้ง 3 เมือง ประกอบกับการใช้สถิติเกี่ยวกับขนาดของประชากรด้วย โดยทีมนักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า อายุเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยไอเสียของรถยนต์ และมันแสดงให้เห็นว่า การปล่อยมลพิษทางอากาศจากการจราจรส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนมากที่สุด

นอกจากนั้น อัลสตรัปกล่าวเสริมด้วยว่า ความจริงอายุเฉลี่ยใน 3 เมืองเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 ปี ตั้งแต่ปี 1990-2015 อันเนื่องมาจากการลดอัตราการสูบบุหรี่ การรักษาโรคหัวใจ และหลอดเลือดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทว่าการลดปริมาณมลพิษทางอากาศจากการจราจรก็มีส่วนช่วยได้มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในการเพิ่มอายุเฉลี่ยของประชากร โดยเขาอธิบายให้ฟังว่า ระดับโอโซนที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อสุขภาพค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซออกมาจากทอไอเสียรถยนต์

“มาตรการการควบคุมมลพิษมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ”

ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน สภาเศรษฐกิจโลก (The World Economic Forum) เคยทำการสำรวจประเทศที่ประชากรอายุเฉลี่ยมากสุดในโลกมาแล้ว และประเทศหนึ่งที่ติดอับดับต้นๆ คือ สวีเดน ซึ่งอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 81.7 ปี