หลายคนอาจทราบว่า ประเทศเดนมาร์กส่งเสริมพลังงานสะอาดแบบเป็นจริงเป็นจังมานานกว่าทศวรรษ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศติดชายฝั่งทะเล และลมพัดแรงตลอดปี ทำให้เหมาะกับการติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดกระแสไฟฟ้าภายในประเทศเดนมาร์กถึงกลายเป็นสิ่งเหลือใช้ อีกทั้งสามารถส่งออกไปขายให้กับเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์ เยอรมนี และสวีเดน จนสร้างรายได้กลับเข้าประเทศได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เดนมาร์กยังประสบความสำเร็จกับการทำลายสถิติโลกด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมอีกครั้ง โดยคิดเป็น 43.4 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในประเทศใน 2017 จากสถิติเดิมในปี 2015 อยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันเป้าหมายของรัฐบาลเดนมาร์กคือ เร่งผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ก่อนก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศพลังงานสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 ตามลำดับ
แน่นอนว่า ความตั้งใจของเดนมาร์กไม่เรื่องเพ้อฝัน เมื่อย้อนกลับไปดูรายงานปี 2005 ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศเดนมาร์กอยู่แค่ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่แล้วอีก 5 ปีต่อมา ตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นไปเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุดพัฒนาไปถึง 43.4 เปอร์เซ็นต์ นั่นส่งผลให้ ลาร์ส คริสเตียน ลิลล์โฮลต์ (Lars Christian Lilleholt) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ออกมากล่าวว่า รัฐบาลของประเทศเดนมาร์กจะใช้โมเมนตัมในการส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการประชุม เพราะปัจจุบันราคาของพลังงานลมกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียว
“ด้วยสถิติการผลิตพลังงานลมล่าสุด เดนมาร์กได้ปักธงเขียวเอาไว้บนแผนที่โลกแล้ว และเป็นการแสดงให้ทุกคนเห็นอีกครั้งด้วยว่า ระบบการผลิตพลังงานสะอาดของเดนมาร์กที่ดีสุดในโลก” รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเดนมาร์ก กล่าว
ที่ผ่านมาในปี 2015 ประเทศจีนครอบครองพื้นที่ตลาดกังหันลมใหม่ไปครึ่งหนึ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภคจากทั่วโลก และมันเป็นส่วนช่วยให้บริษัทโกลด์วินด์ ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (Goldwind Science & Technology) ขึ้นแทนผู้ผลิตกังหันลมอันดับหนึ่ง แต่บางช่วงบางเวลา เดนมาร์กก็สามารถวิ่งแซงหน้าไปเป็นผู้นำด้านการผลิตกังหันลมด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทเวสตาส์ วินด์ ซิสเทมส์ (Vestas Wind Systems A/S) เป็นโรงงานผลิตกังหันลมใหญ่สุดในโลก ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย
นอกเหนือจากการรุกหน้าสร้างสถิติใหม่อยู่เรื่อยๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2017 กังหันลมนอกชายฝั่งรุ่นวี 164 ของเดนมาร์กยังประสบความสำเร็จในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 216,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ต่อเนื่องนาน 24 ชั่วโมง ซึ่งผลการดำเนินงานแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายของประเทศที่เตรียมยุติการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือสนับสนุนให้ประชาชนลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลให้เหลือศูนย์ในอีก 12 ปีข้างหน้าอาจเป็นไปได้
ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้า และศักยภาพด้านการผลิตพลังงานหนุนเวียนของเดนมาร์กกำลังกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญโลก เพราะบางประเทศพยายามลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และมองเดนมาร์กเป็นโมลเดลความสำเร็จ ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียกับการหันมาใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าออกมาปรากฏตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งกุญแจดอกสำคัญในนโยบายของรัฐบาลเดนมาร์คือ การทำให้แน่ใจว่า การเชื่อมต่อโครงข่ายระบบไฟฟ้าสามารถตรวจสอบ และควบคุมระดับคุณภาพไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมการเชื่อมโยงเพาเวอร์ กริด (Power Grid) จากประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อชีวิตของทุกคนขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงานหมุนเวียน
ด้านรัฐบาลเดนมาร์กเดินหน้าสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับพลังลมเต็มมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานมั่นใจมากว่า อีกไม่นาน กระแสลมจะเปลี่ยนจากการพลังงานทางเลือกมาเป็นพลังงานหลักแทน และไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐใดๆ
“เราต้องหาทางจัดการกับพลังงานลม และแหล่งพลังงานสีเขียวอื่นๆ ที่ประเทศผลิตได้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้อำนวยความสะดวกกับประชาชนทุกคน ขณะเดียวกันยังต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย” ลิลล์โฮลต์ กล่าว
ปัจจุบันเดนมาร์กเป็นตลาดไฟฟ้าหลักของยุโรป โดยมีการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้ากับประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (Nordic Power Pool) และอีกหลายประเทศในยุโรป (Interconnections) เพื่อถ่ายเทพลังงานจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ไปสำรองไว้ ทำให้ในรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency – IEA) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2017 ยกย่องว่า เดนมาร์กสามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนได้รวดเร็ว และกลายเป็นผู้นำโลกในการลดคาร์บอนไดออกไซด์
อีกหนึ่งโมเดลการพัฒนาพลังงานสะอาดของเดนมาร์กอยู่ที่การเก็บค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด สนนราคาประมาณ 40 เซ็นต์ หรือ 14 บาทต่อหน่วย ส่วนของประเทศไทยค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละประมาณ 4 บาท ซึ่งแพงกว่าเกือบ 4 เท่า อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งหลงไปกับวาทกรรมเก่าๆ เพราะเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวแล้ว คนเดนมาร์กมีรายได้มากกว่าคนไทยเกือบ 9 เท่า และความจริงแล้ว ค่าไฟฟ้ายังมีความสัมพันธ์กับสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศที่มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูงจะมีการเรียกเก็บภาษี (Tax Component) เพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนสูงตามไปด้วย ขณะที่ค่าผลิตกระแสไฟฟ้าจริง (Raw Price) กลับมีสัดส่วนน้อยกว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นในเดนมาร์กเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรภายในประเทศเป็นไปได้จริงๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกแล้ว ยังเสริมความมั่นคงทางพลังงานในประเทศอีกด้วย เนื่องจากลมเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด สุดท้ายแล้วพลังงานลมก็เป็นตัวเลือกน่าสนใจของหลายๆ ประเทศ ซึ่งกำลังปรารถนาพลังงานทดแทนจากฟาร์มขนาดใหญ่ ทำให้ปีก่อนสหราชอาณาจักรออกมาประกาศว่า สามารถผลิตพลังงานจากลมได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อีกทั้งประเทศเยอรมนียังเป็นที่ตั้งของกังหันรายใหญ่สุดในโลก
นอกจากนั้น บางพื้นที่ของสหรัฐฯ กำลังก้าวไปข้างหน้าด้านพลังงานทดแทน เห็นได้จากรายงานการทำลายสถิติของฟาร์มในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันด้านอเมซอน (Amazon) ก็ประกาศตัวสร้างฟาร์มกังหันลมขนาดใหญ่สุดเป็นของตัวเองในเท็กซัส ประกอบด้วยกังหัน 100 ตัว และสามารถสร้างพลังงานหมุนเวียนที่เพียงพอต่อประชาชนมากกว่า 90,000 ครัวเรือนต่อปี ส่วนแอตแลนตากำลังตั้งเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2035
แผนการของหลายประเทศทั่วโลก อาจทำให้ชีวิตประจำวันในอนาคตเข้าใกล้พลังงานหมุนเวียมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องหาทางออกดีๆ ให้กับประเด็นมาตรการทางด้านภาษี พร้อมกับกำหนดนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดแบบเป็นจริงเป็นจังกันเสียที
---------------