ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบันผู้คนใน 11 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกหันมาตระหนักในความสำคัญของ ‘อาหารเช้า’ กันมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นว่ามันเป็น ‘มื้อสำคัญ’ ที่สุด แต่กระนั้น อุปสรรคแสนยุ่งยากในชีวิตพนักงานออฟฟิศกำลังทำให้วัฒนธรรมอาหารเช้าพรากจากพวกเราไป

ผลการสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติ และพฤติกรรมการบริโภคของอาหารเช้าของคนแถบเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Healthy Breakfast Survey) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า 5,500 คน จาก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม พบว่า ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 79 เปอร์เซ็นต์ ยังคงตระหนักเรื่องความสำคัญของการรับประทานอาหารเช้า เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และการควบคุมน้ำหนักตัว

68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามยืนยันว่า อาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุดของพวกเขา ทว่า 15 เปอร์เซ็นต์กลับยกให้อาหารกลางวันเป็นมื้อสำคัญสุดในชีวิต ตามมาด้วยอีก 16 เปอร์เซ็นต์ที่ยอมถวายตัวให้กับอาหารมื้อค่ำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามเกี่ยวกับประโยชน์จากการกินอาหารเช้า 96 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “อาหารเช้าให้พลังงาน” และ 89 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า“อาหารเช้ายกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” ขณะที่ 89 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “อาหารเช้าช่วยให้ระบบเผาผลาญเริ่มต้นทำงาน”

ในอดีตที่ผ่านมา เวลาคนเอเชียตื่นนอน และนึกถึงภาพอาหารเช้า มันไม่ใช่ไข่ เบคอน หรือครัวซองต์ เหมือนกับวัฒนธรรมตะวันตก สำหรับคนจีนส่วนใหญ่ต้องเป็นข้าวต้มเครื่อง ด้านคนญี่ปุ่นมักจิบซุปมิโซะ ส่วนคนเกาหลีอาจกินเกี๊ยวน้ำหรือบะหมี่ เคียงข้างมาด้วยกะหล่ำปลีดอง ผักกาดหอม และหัวไชเท้าจานเล็กๆ ส่วนอาหารเช้าแบบไทยๆ สมัยก่อนจะมาเป็นปิ่นโตอัดที่เต็มเปี่ยมด้วยอาหารปรุงสดใหม่ ทว่าไลฟ์สไตล์คนหนุ่มสาวตามเมืองใหญ่ในปัจุบันคงหนีไม่พ้นต้มเลือดหมู ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หรือข้าวกล่องบนทางด่วนในช่วงเช้าที่กรุงเทพฯ ฝนตกหนัก และการจราจรเลวร้ายสุดๆ

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ แม้วีถีชีวิตของหลายๆ คนจะแทบไม่มีเวลาทำอาหารเช้า หรือรับประทานอาหารเช้าด้วยซ้ำ แต่ประเด็นนิสัยการกินอาหารเช้าของคนแถบเอเชียแปซิฟิกจากผลสำรวจสามารถสรุปได้ว่า 71 เปอร์เซ็นต์ให้ความสำคัญกับการกินอาหารเช้าที่บ้านของตัวเอง 13 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าที่ทำงาน ตามมาด้วย 10 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าระหว่างเดินทางไปทำงาน และมีเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตอบว่าไม่กินอาหารเช้า

ด้านคนอินโดนีเซีย 88 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าที่บ้านของตัวเอง 5 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าที่ทำงาน 3 เปอร์เซ็นต์ กินอาหารเช้าระหว่างเดินทางไปทำงาน และเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นไม่ได้กินอาหารเช้า

คนฟิลิปปินส์ 84 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าที่บ้านของตัวเอง 10 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าที่ทำงาน 4 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าระหว่างเดินทางไปทำงาน และเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่กินอาหารเช้า

ส่วนคนฮ่องกง 55 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าที่บ้านของตัวเอง 20 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าที่ทำงาน 19 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าระหว่างเดินทางไปทำงาน และเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่กินอาหารเช้า

นั่นอาจหมายความว่า แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่คนส่วนใหญ่ล้วนต้องการเวลารื่นรมย์กับอาหารเช้า หรืออยู่กับครอบครัวในเวลาเช้าให้นานยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เทรนด์อาหารเช้าจึงมาพร้อมกับความเย้ายวน และดึงดูดคนหนุ่มสาวให้รีบตื่นเช้ามาทำอาหาร หรือออกไปกินอาหารตามร้านดีๆ อย่างน้อยๆ ก็ต้องโพสท์รูปบนโซเชียลมีเดีย

breakfast 1.jpg

นอกจากนั้น อีกหนึ่งคำถามน่าสนใจคือ ปัจจุบันคนเอเชียแปซิฟิกทานอะไรเป็นอาหารเช้า ซึ่งผลสำรวจพบว่า ในแง่องค์ประกอบของสารอาหาร 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ค่า ‘โปรตีน’ เป็นสิ่งสำคัญสุดในอาหารเช้าของพวกเขา ส่วน ‘คาร์โบไฮเดรต’ ยังคงเป็นผู้ร้ายในชีวิตของมนุษย์สมัยใหม่ เพราะมันเพิ่มแคลอรี แต่ความจริงก็เป็นเรื่องยากจะปฏิเสธ นั่นทำให้ 49 เปอร์เซ็นต์กินขนมปัง หรือขนมปังปิ้ง 46 เปอร์เซ็นต์กินอาหารเช้าแบบดั้งเดิมของประเทศนั้นๆ เช่น ข้าว หรือก๋วยเตี๋ยว และอีก 46 เปอร์เซ็นต์เลือกเครื่องดื่มร้อนเป็นประจำ

จากการสำรวจยังพบว่า อาหารเช้าของคนอินโดนีเซียส่วนใหญ่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคอินโดนีเซียกินคาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารเช้า ขณะที่ 56 เปอร์เซ็นต์เลือกกินอาหารแบบดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตอยู่ดี

แน่นอนว่า ด้วยจังหวะชีวิตอันแสนเร่งรีบทำให้หลายคนต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคในการกินอาหารเช้าเป็นประจำทุกวัน โดย 4 อันดับแรกของอุปสรรคจากผลการสำรวจคือ 52 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “ไม่มีเวลา” 32 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “ไม่รู้สึกหิว” 16 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “การเตรียมอาหารเช้าเป็นเรื่องยุ่งยาก” และอีก 12 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “ต้องการลดน้ำหนัก”

เมื่อถามว่าแรงจูงใจใดที่จะช่วยให้พวกเขากินอาหารเช้าทุกวัน 41 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “มีเวลามากขึ้น” 40 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “การทำอาหารเช้าสะดวกและง่ายขึ้น” และ 38 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า “มีอาหารเช้าที่เข้าถึงได้ง่าย”

สุดท้าย สำหรับมื้ออาหารที่สมดุลต่อร่างกายผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแนะนำว่า ควรประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 40 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 30 เปอร์เซ็นต์ เส้นใย 35 กรัม และน้ำดื่ม 8 แก้วต่อวัน