เมื่อเวลา 14.28 น. วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงฯ โดยผู้สื่อข่าวพยายามถึงกระแสข่าวดีลลับระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย ให้มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมและทำให้การประชุมรัฐสภาล่ม เพื่อให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งที่จะมาถึง ว่าเชื่อเรื่องนี้หรือไม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ เดินชะลอและหยุดหันมาชำเลืองมองผู้สื่อข่าวเพื่อฟังคำถาม แต่ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด ก่อนเดินขึ้นไปประชุม สมช.ด้วยสีหน้าเรียบเฉย
ขณะที่วาระการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ วันเดียวกันนี้ จะมีการรายงานสถานการณ์ปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อไทย รวมไปถึงรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ รวมไปถึงผลการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมืองระยะที่ 1 พ.ศ 2563-2565 นอกจากนี้จะมีการเสนอให้ที่ประชุม พิจารณาร่างนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติพ.ศ 2566-2570
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทยพ.ศ 2566-2570 และพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนกรณีทับซ้อนการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยพื้นที่ดินทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย
ขณะที่วันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 1 /2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อนุทิน ชาญวีรกูล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดอน ปรมัตถ์วินัย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รวมทั้ง และ รมว.คลัง รมว.เกษตรฯ รมว.คมนาคม รมว.มหาดไทย และ รมว.อุตสาหกรรม ร่วมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเชีย-ยูเครน รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่น และแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ
สำหรับการประชุมนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และรัฐภูมิศาสตร์อื่น ๆ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมกันประเมินผลกระทบดังกล่าว และพิจารณาหาแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในระยะต่อไป