รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 13 มีนาคม 2565 ทะลุ 456 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,202,186 คน ตายเพิ่ม 4,115 คน รวมแล้วติดไปรวม 456,260,532 คน เสียชีวิตรวม 6,061,396 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.62 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 99.12 ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 42.64 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.94 โดยเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 63 คน สูงเป็นอันดับ 17 ของโลก "The new wave in Europe has begun"...
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% แต่มีถึง 3 ทวีปที่ยังเพิ่มขึ้น และมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก นั่นคือ โอเชียเนีย 16%, เอเชีย 10%, และยุโรปที่กลับมาบวกอีกครั้งที่ 9%
ทั้งๆ ที่ยุโรปเพิ่งผ่านพ้นพีคของระลอกใหญ่ไปหมาดๆ ราวเดือนเดียว แต่กลับระบาดปะทุซ้ำจาก BA.2 ซึ่งมีสมรรถนะแพร่ได้ไวกว่า BA.1 อย่างไรก็ตามเหตุผลหลักไม่น่าจะมาจากตัวเชื้อเท่านั้น แต่น่าจะเป็นผลมาจากการหยุดมาตรการป้องกันและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวัน
ดังนั้นการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น ไม่แชร์ของกินของใช้หรือกินดื่มร่วมกับผู้อื่น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันโรคโควิด-19 ต่อให้ Omicron จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ข้อมูลวิชาการตอนนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหนักในระยะยาวของประเทศที่มีจำนวนคนติดเชื้อสูงนั้นจะเป็นเรื่อง Long COVID
เพราะจะส่งผลต่อทั้งสมรรถนะร่างกายและจิตใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปัญหาผลิตภาพจากการทำงาน ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และเป็นภาระต่อระบบสุขภาพ ภาระค่าใช้จ่ายต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ
ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมจะดีที่สุด
หนึ่ง ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
สอง ปรับระบบงาน กระบวนการทำงาน และสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย
สาม สำหรับประชาชน ควรหลีกเลี่ยงการพบปะคนที่ไม่ป้องกันตัว และหลีกเลี่ยงการใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากผู้ให้บริการที่ไม่ป้องกันตัว
และสี่ สำหรับเจ้าของกิจการและพนักงาน ควรปฏิเสธที่จะให้บริการลูกค้าที่ไม่ป้องกันตัว และแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
"ทั้ง 4 เรื่องข้างต้นจะเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้สังคมโดยรวมปลอดภัยมากขึ้น และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม" รศ.นพ.ธีระ ระบุ