ไม่พบผลการค้นหา
'หมอธีระ' ชี้โควิดรอบใหม่ไม่ใช่ระลอกเล็กๆ ย้ำต้องใส่แมสก์ พร้อมระบุจะสู้ได้ ต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ประมาท ไม่หลงต่อกิเลส ความเชื่องมงาย

วันที่ 7 ก.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 728,299 คน ตายเพิ่ม 1,279 คน รวมแล้วติดไป 557,178,217 คน เสียชีวิตรวม 6,366,079 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 67.58 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 39.64

สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

อัพเดตจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ล่าสุดทาง WHO ได้ออกรายงานประจำสัปดาห์ WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 6 กรกฎาคม 2565 ภาพรวมทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่ในสัปดาห์ล่าสุด มากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าราว 3% ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตลดลง 12%

ภูมิภาคที่มีจำนวนการติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงมากคือ เมดิเตอเรเนียนตะวันออก 29% ตามมาด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 20% โดยทั้งสองภูมิภาคนี้มีจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากเช่นกันคือ 34% และ 16% ตามลำดับ

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดที่ไทยเรากำลังเผชิญอยู่ และย้ำเตือนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับสายพันธุ์ที่ระบาดนั้น จากระบบเฝ้าระวังของทั่วโลก พบว่า สัปดาห์ล่าสุด Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 ครองการระบาดทั่วโลกถึง 51.68% ตามมาด้วย BA.4 12.48% ในขณะที่ BA.2.12.1 และ BA.2 นั้นลดลงไปเหลือเพียง 10.57% และ 9% ตามลำดับ

สมรรถนะของ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 ด้วยข้อมูลวิชาการแพทย์จนถึงปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้

1. BA.5 แพร่ไวกว่า Omicron สายพันธุ์ก่อนหน้าอย่าง BA.1 และ BA.2 อย่างชัดเจน

2. แม้จะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกได้ว่า BA.5 จะมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหรือไม่ แต่ข้อมูลจากหลายประเทศทั่วโลกที่มีการระบาดมาก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในไอซียู และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จึงต้องไม่ประมาท

3. BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ถึง 7.5 เท่า

4. BA.5 ดื้อต่อยาแอนติบอดี้ที่ใช้ในการรักษา ทั้ง Cilgavimab, Casirivimab, และ Imdevimab

เมื่อเราทราบข้อมูลวิชาการ และหลักฐานเชิงประจักษ์เช่นนี้ ก็ย่อมทราบได้ว่า ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นไม่ใช่ระลอกเล็กๆ มองรอบตัวจะเห็นคนจำนวนมากติดเชื้อกันรัวๆ ทั้งแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม แบบครอบครัว และยกแผนกในที่ทำงาน มีทั้งที่รอดมาทุกซีซั่นแต่สุดท้ายมาโดนรอบนี้ หรือแม้แต่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ติดเชื้อซ้ำ

การฉีดวัคซีนนั้น จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้ครบอย่างน้อยสามเข็ม ใครที่ฉีดเข็มสามไปแล้วนานกว่า 4-5 เดือน หากต้องใช้ชีวิตพบปะคนอื่นในสังคม ต้องดูแล/รักษา/บริการ หรือเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ก็ควรพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นอีกครั้งเป็นเข็มที่สี่

การฉีดวัคซีนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่ไม่การันตี 100% แม้ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังติดเชื้อได้ หากไม่ป้องกันตัวให้ดี และการติดเชื้อแต่ละครั้งย่อมเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

ย้ำอีกครั้งว่า การใส่หน้ากากเสมอ เวลาเราออกไปตะลอนนอกบ้านนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ควรใส่ให้คุ้นชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของเรา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือ "วิชชา" เป็นความรู้ที่เราควรนำไปพิจารณาใช้ในการตัดสินใจดำเนินชีวิต เพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน

สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยโรคระบาด และสิ่งเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตทั้งของตัวเรา คนในครอบครัว และเพื่อนสนิทมิตรสหาย จะสู้ได้ ต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ประมาท ไม่หลงต่อกิเลส ความเชื่องมงายครับ