รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 465 ล้าน เมื่อวาน (17 มี.ค.)ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,884,132 คน ตายเพิ่ม 5,773 คน รวมแล้วติดไปรวม 465,584,170 คน เสียชีวิตรวม 6,086,739 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.6 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 65.42 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 43.7 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.76
สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 20 ของโลก
รศ.นพ.ธีระ ยังระบุถึง Long COVID กับปัญหาจิตเวช โดยระบุว่า Hufner K และทีมงานวิจัยจากประเทศออสเตรียและอิตาลี ทำการวิจัยประเมินความชุกของปัญหาจิตเวชที่เกิดขึ้นก่อน และหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยศึกษาในประชากรชาวออสเตรียและอิตาลีราว 2,000 คน ซึ่งเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน พบว่า ณ ช่วงเวลาหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 ไปแล้วราว 3 เดือน ผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน มีอัตราประสบปัญหาวิตกกังวลเพิ่มขึ้นราว 2-4 เท่า และมีอัตราประสบปัญหาภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นราว 3-5 เท่า
ทีมวิจัยวิเคราะห์ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจิตเวชทั้งเรื่องวิตกกังวลและซึมเศร้ามากขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ที่เคยมีปัญหาเหล่านี้มาก่อนการติดเชื้อ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงขึ้นได้หลังติดเชื้อ
ทั้งนี้ ปัญหา Long COVID นั้นส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อได้
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่าง พบเจอคนโดยใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง หากมีอาการผิดปกติ ไม่เหมือนเดิม ก็ควรไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ขอให้ปลอดภัยไปด้วยกัน