ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศหลายสำนักวิเคราะห์การเมืองไทยช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ชำแหละแคนดิเดต 5 พรรคที่มีแนวโน้มได้เป็นนายกฯ ทั้งพปชร. เพื่อไทย ปชป. ภูมิใจไทย อนาคตใหม่

ก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วประเทศ 24 มี.ค. 2562 เว็บไซต์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานอ้างอิงสำนักข่าวเอพี ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองมากกว่า 70 พรรคส่งผู้สมัครเข้าชิงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และพรรคที่จะมีสิทธิ์เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตนได้ จะต้องมีที่นั่งในสภาอย่างน้อlยที่สุด 25 ที่นั่ง

วอชิงตันโพสต์/เอพีประเมินว่า แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่มีคะแนนเกิน 25 ที่นั่ง และเป็นตัวเก็งที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป น่าจะมีอยู่เพียง 5 รายเท่านั้น 

ประยุทธ์ 0319144354000000.jpg

ตัวเก็งอันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วัย 65 ปี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย เพราะสมาชิกวุฒิสภา 250 นายที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์เอง สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ และสื่อต่างประเทศเชื่อว่า ส.ว.ทั้ง 250 รายไม่น่าจะโหวตให้แคนดิเดตของพรรคอื่นนอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์

จุดแข็ง - หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงข้างมากโหวตให้เป็นนายกฯ อีกสมัย จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพราะพรรคพลังประชารัฐสามารถรวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าพร้อมจะร่วมมือกับ พปชร. เช่น พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคชาติพัฒนา ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ระบุว่าสามารถทำงานร่วมกับ พปชร.ได้ แต่จะไม่ร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ 

จุดอ่อน - พล.อ.ประยุทธ์เป็น 'ทหารอาชีพ' ซึ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตการเป็นทหารช่วงปี 2553 ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และต่อเนื่องไปถึงสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล จนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทย แต่ในช่วงเกือบ 5 ปีภายใต้รัฐบาลทหาร ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกมองว่า 'ไร้มารยาท' 'ปากร้าย' และ 'ฉุนเฉียวง่าย'

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่ในสภาหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. จะเปลี่ยนไปจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองเดิมๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยรับตำแหน่งนายกฯ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้สงสัยว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่นจะดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่

สุดารัตน์

ตัวเก็งอันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ วัย 57 ปี แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ที่ยืนหยัดในเวทีการเมืองได้ยาวนานอีกคนหนึ่ง นับตั้งแต่เข้าสู่การเมืองครั้งแรกในฐานะสมาชิกพรรคพลังธรรม เมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผันตัวจากแวดวงธุรกิจมาเป็นนักการเมือง แม้คุณหญิงสุดารัตน์จะได้รับผลกระทบจากการยุบพรรคไทยรักไทย จนถูกตัดสิทธิ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 5 ปี แต่ในที่สุดก็สามารถกลับคืนสู่เวทีการเมืองได้ 

จุดแข็ง - คุณหญิงสุดารัตน์เป็นทายาทนักการเมือง ทั้งยังมีประสบการณ์การเมืองในฐานะรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัย แม้แต่ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ทั้งยังเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ อันดับ 1 ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจากการเลือกตั้งทุกครั้งในรอบทศวรรษที่่ผ่านมา พรรคที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณก็ได้รับชัยชนะทุกครั้ง 

จุดอ่อน - หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและคุณหญิงสุดารัตน์ได้รับเลือกเป็นนายกฯ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชุมนุมทางการเมืองและการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งได้ โดยเดอะการ์เดียน รายงานอ้างอิงการแสดงความเห็นของ 'เบญญา นันทขว้าง' ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของกลุ่ม กปปส.ซึ่งเคยเคลื่อนไหวต่อต้านอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนนำไปสู่การรัฐประหาร โพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยระบุว่า ถ้าพรรค 'ประชาธิปไตยกงเต๊ก' ได้รับชัยชนะ ก็จะเกิดการ 'ปฏิวัติ' อีกรอบ จึงมีแนวโน้มสูงว่าอาจเกิดรัฐประหารรอบใหม่ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและคุณหญิงสุดารัตน์ได้เป็นนายกฯ

อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์

ตัวเก็งอันดับ 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วัย 54 ปี แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ประกาศจุดยืนว่า ตนพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสกัดการกลับมาของพรรคการเมืองที่เกี่ยวโยงกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ทั้งยังระบุด้วยว่า พร้อมร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุนกองทัพ เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลทหารปัจจุบันดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เว็บไซต์อัลจาซีรายังได้รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้งและได้จำนวน ส.ส.ในสภาอย่างน้อย 150 ที่นั่งในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.

จุดแข็ง - นายอภิสิทธิ์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครั้งหนึ่งแล้ว ในสมัยที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรในตอนนั้น ลงมติให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

จุดอ่อน - วอชิงตันโพสต์รายงานว่า แม้นายอภิสิทธิ์จะเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ มาก่อน แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายทั่วประเทศมาก่อนเลย แม้จะมีฐานเสียงสำคัญอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดภาคใต้ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะพรรคเครือข่ายอดีตนายกฯ ทักษิณในภาคอื่นๆ ได้

นอกจากนี้ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ยังมีการออกคำสั่งปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ราย ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งร้ายแรงที่สุดของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

อนุทิน

ตัวเก็งอันดับ 4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล วัย 52 ปี แคนดิเดตนายกฯ แห่งพรรคภูมิใจไทย ถูกมองว่าอาจเป็น 'ม้ามืด' ที่จะเป็นผู้เปลี่ยนเกมการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเขาพร้อมจะเจรจาต่อรองเพื่อก่อตั้งรัฐบาลกับขั้วการเมืองหลักๆ ทั้งสองฝั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายสนับสนุนกองทัพหรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคภูมิใจไทยเคยมีประวัติแตกหักจากพรรคที่เป็นพันธมิตรในอดีต ไปร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์มาก่อน

จุดแข็ง - ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยถูกมองเป็นพรรคที่มีฐานเสียงเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การหาเสียงครั้งนี้มีการชูนโยบาย 'เสรีกัญชา' ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากคนไทยจำนวนมาก ทำให้พรรคมีแนวโน้มที่จะได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจากกลุ่มเป้าหมายใหม่ และในครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยก็ไม่ได้ปิดบังจุดยืนว่าพร้อมร่วมกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่มองว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจของกองทัพหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายอนุทินให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะถอนตัวจากตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเขาย้ำว่า ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ก็จะขาดความชอบธรรม และคงอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน

จุดอ่อน - วอชิงตันโพสต์มองว่าอนุทินเป็นตัวเลือกที่ขาดความเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นพรรคที่พร้อมเข้าร่วมกับฝ่ายใดก็ได้เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ครอบครัวของเขายังประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งได้รับสัมปทานโครงการใหญ่จากรัฐบาลในอดีตมาโดยตลอด ทำให้บทบาทของอนุทินในฐานะนายทุน-นักธุรกิจ อาจจะทับซ้อนกับบทบาทนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีส่วนในการกำหนดหรือพิจารณาผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการลงทุน

ธนาธร.jpg

ตัวเก็งอันดับ 5 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วัย 40 ปี แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอนาคตใหม่ อดีตรองประธานกรรมการบริหารไทยซัมมิท กลุ่มทุนขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของไทย ได้ประกาศวางมือ และถอนตัวจากตำแหน่งต่างๆ ทางธุรกิจ เพื่อผันตัวสู่แวดวงการเมือง

จุดแข็ง - การประกาศจุดยืนของธนาธรในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งพร้อมจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร ทำให้เขาถูกกล่าวถึงในฐานะคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า และสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ที่มาจากเครือข่ายภาคประชาสังคมก็อยู่ในช่วงวัย 20-30 ปี ทำให้พรรคถูกมองเป็นความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย และคาดว่าจะดึงดูดคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก หรือ first voter ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัย 18 - 20 ปีกว่าๆ ได้มากกว่าพรรคอื่นๆ ที่เป็นขั้วการเมืองเดิม 

จุดอ่อน - สิ่งที่มาควบคู่กับภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ คือ การตั้งคำถามเรื่องประสบการณ์การทำงานการเมืองของนายธนาธรและสมาชิกพรรคคนอื่นๆ วอชิงตันโพสต์/เอพี จึงมองว่าธนาธรมีโอกาสได้รับเลือกเป็นนายกฯ 'น้อยที่สุด' เมื่อเทียบกับตัวเก็งอีก 4 รายของพรรคอื่น แต่ขณะเดียวกันก็มองว่า พรรคอนาคตใหม่ยังมีโอกาสที่จะเติบโตในสนามการเมืองได้อีกไกล แม้จะเพิ่งก้าวเข้าสู่แวดวงนี้อย่างเป็นทางการได้แค่เพียงปีเดียว

ที่มา: Al-jazeera/ The Guardian/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: