สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า ไทยกำลังเตรียมตัวลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา แต่ระบบการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาเพื่อตัดกำลังของพรรคการเมือง จะเอื้อต่อกองทัพให้ยังคงมีบทบาทในการเมืองไทยต่อไปในอนาคต จึงมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยบรรเทาหรือแก้ไขความขัดแย้งแบ่งขั้วที่เรื้อรังในประเทศไทยมานานเกือบ 2 ทศวรรษ และผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ว่า สังคมไทยยังต้องการประชาธิปไตยอยู่หรือไม่
ประชาชนไทยผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีจำนวนกว่า 52 ล้านคน ขณะที่ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ส.ส.ทั้งหมดทั่วประเทศ มีจำนวนมากกว่า 2,700 คน จากพรรคการเมืองเกือบ 80 พรรค ส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก มีจำนวนประมาณ 7 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองของไทยแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน คือ พรรคที่ประกาศตัวว่าสนับสนุนรัฐบาลทหารได้แก่ พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทย ส่วนอีกขั้วหนึ่งคือพรรคที่ไม่เอาด้วยกับรัฐบาลทหาร และไม่ต้องการให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองใหญ่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ที่เชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ทายาทกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยเป็นหัวหน้าพรรค
เอม สินเพ็ง อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย เปิดเผยกับอัลจาซีราว่า ในยุคทศวรรษ 1990 ไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมิภาค (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งขณะนั้นแวดล้อมไปด้วยประเทศที่ปกครองภายใต้ระบบเผด็จการ แต่กลับกลายเป็นว่า ที่สุดแล้ว ไทยไม่สามารถเป็นแนวหน้าด้านประชาธิปไตยได้
ขณะที่เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา Institute of Southeast Asian Studies หรือ ISEAS ของสิงคโปร์ระบุว่า ไทยได้สร้างระบอบการปกครองแบบใหม่ขึ้นมา
ส่วนจอช เคอร์แลนซิก นักวิชาการด้านเอเชียของ Council on Foreign Relations เขียนบทความออกมาก่อนหน้านี้ว่า การออกแบบระบบรัฐสภาให้ ส.ว. 250 เสียงที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้รัฐบาลทหารมีฐานคะแนนรองรับอยู่แล้วในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านเผด็จการต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ
"ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเทศไทยก็ยังหนีไม่พ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ดี" เคอร์แลนซิกกล่าว
พร้อมกันนี้ อัลจาซีรายังรายงานอ้างอิงกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ซึ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารไทยจัดการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมและน่าเชื่อถือ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทหารไทยยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทั้งหมด รวมถึงปล่อยตัวนักโทษที่ถูกขังเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส.มาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม APHR คนปัจจุบัน ย้ำว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นอยู่กับว่า ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นของตัวเองได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาต่อจากนั้น แต่กลับเป็นสิ่งที่ 'เป็นไปไม่ได้' ในประเทศไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เว็บไซต์เดอะสเตรทส์ไทม์ส สื่อของสิงคโปร์ รายงานอ้างอิงสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า การเลือกตั้งของไทยในครั้งนี้อาจลงเอยที่ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้ทหาร หรือ Martial Democracy เพราะนอกจากระบบเลือกตั้งจะถูกออกแบบมาให้ฝ่ายรัฐบาลทหารได้เปรียบพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐประหารแล้ว ยังมีคนจำนวนมากมองว่า สถานการณ์ภายใต้รัฐบาลทหารนั้น 'สงบเรียบร้อย' จึงพร้อมจะออกไปเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารให้เข้าไปทำหน้าที่ในระบอบรัฐสภาในอนาคต
ST ยังได้รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ รวมถึง ''สุภรณ์ อัตถาวงศ์' หรือ 'แรมโบ้อีสาน' อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งปัจจุบันผันตัวไปเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีอดีตรัฐมนตรี 4 รายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแกนนำ โดยทั้งสองคนกล่าวว่า การปกครองแบบเผด็จการที่นำมาซึ่งความสงบสุขของประเทศ อาจดีกว่าระบอบประชาธิปไตย
จากบทสัมภาษณ์ของฝ่ายหนุนทหารทั้งสองราย ทำให้สื่อสิงคโปร์ตั้งคำถามว่า แนวโน้มทางการเมืองไทยในกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลทหารชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้ไทยมุ่งหน้าสู่การปกครองภายใต้ผู้นำรัฐบาลที่มีแนวคิดอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับที่เกิดในฟิลิปปินส์ ภายใต้รัฐบาลโรดริโก ดูแตร์เต หรือรัฐบาลฮุนเซน แห่งกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กล่าวกับ ST ว่า แม้จะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่สุดท้ายแล้ว เป้าหมายของพรรคการเมืองหลักๆ ก็มีอยู่เพียง 'สองขั้ว' เท่านั้น โดยฝั่งหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจต่อไป และอีกฝั่ง คือ กลุ่มที่ต้องการยุติบทบาทของเผด็จการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: