ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนามองอนาคตการเมือง หลัง 'ประยุทธ์' ครบ 8 ปี ชี้ยุบสภาทางออกเจ็บน้อยสุด ต่ออายุทางการเมือง การเคลื่อนไหวภาคประชาชนมีผลต่อการตัดสินใจ แนะอย่ายึดติดตำแหน่ง ควรชิงลาออกก่อน 24 ส.ค. ก่อนประชาชนจะลิขิตชะตาให้เอง

​วันที่ 20 ส.ค. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่าย 99 พลเมือง จัดเวทีสาธารณะ 'วิเคราะห์การเมืองไทยหลังเงื่อนไข 8 ปีนายกฯ และชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์' ผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และ เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ประสานงาน 99 พลเมือง


​แนะยุบสภา ต่อชะตาทางการเมือง

​พิชาย​ กล่าวว่า​ หนทางในระหว่างระยะเวลาที่เหลืออยู่ของนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะครบวาระ​ 8 ปี​ ของท่านในวันที่ ​24 ส.ค. 2565 ทางแรก คือ ประกาศยุติการดำรงตำแหน่งด้วยตัวเอง​ มีข้อดี หาก พล.อ.ประยุท​ธ์ จะเป็นนักการเมืองที่ดี ในงานทางการเมืองที่ดีขึ้นมาอีกคนในสังคมไทย เพราะเป็นการเคารพเจตนารมณ์ และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 

​ส่วนข้อเสียทางลงจากตำแหน่งนั้น อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์​ โดยตรง คือ การหลุดพ้นจากอำนาจในทันที​ ตนอยากให้ท่านยกหลักธรรม ไตรรัตน์​ มาไตร่ตรองให้มาก​ และมองความเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลไม่แน่นอน อย่ายึดติดในตำแหน่ง เพราะหากอยู่นานก็จะมีความทุกข์​ และทุกอย่างล้วนเป็นอนัตตา​

​หากเลือกการยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์​ จะสามารถรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ​ออกไปอีก ​ 4-5 เดือน​ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและรับรองผล​ ซึ่งถ้ามองถึงการปฏิบัติหน้าที่​ ในการเป็นประธานการประชุม สุดยอดผู้นำเอเปค ต้องยอมรับว่าท่ามกลางความขัดแย้งโลก​ ระหว่างการประชุมจะมีการแสดงท่าที​ และจะส่งผลต่อภาพลักษณ์​ของประเทศผู้จัดประชุมด้วย 

LINE_ALBUM_220820_2.jpg

“การจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ ถือว่าเป็นความเสี่ยงของประเทศอีกทางหนึ่ง​ แต่สิ่งสำคัญคือการยุบสภา จะทำให้ พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี​ ฝ่ายความมั่นคงนั้นไม่พอใจ​ จากการวิเคราะห์แล้วอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์​เลือกทาง ที่ 1 มากกว่า เนื่องจากรักษาการนายกฯจะเป็นพลเอกประวิตร” ​

​หากเลือกการอยู่รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน​ ตามเงื่อนไขคิดว่า​ ศาลจะมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่วันที่ 24 ส.ค.​ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียในการปฏิบัติหน้าที่ตามมา จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย​ ซึ่งสามารถช่วงชิงอำนาจทางการเมือง และอาจทำให้เกิดปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย เช่น คดีที่ผ่านมาในอดีต ต้องยอมรับว่าขณะนี้ นายกฯมีอาการเครียด​ กังวลอะไรบางอย่าง เห็นได้ว่าไม่นิ่งระหว่างแถลงข่าว​ ไม่มีการวางอำนาจเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา

​​พิชาย​ กล่าวว่า หากศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่​ พล.อ.ประยุทธ์​ จะถูกจดจำในประวัติศาสตร์ทางการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกสั่ง ให้พ้นจากตำแหน่งด้วยศาลรัฐธรรมนูญ​ ส่วนการที่ วิษณุ​ เครืองาม​ รองนายกรัฐมนตรี​ ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์​ ยังสามารถรักษาการ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้​ และหากพล.อ.ประยุทธ์ยังรักษาการต่อ ตนเชื่อว่าจะเกิดหายนะแน่นอน


2 ช่องทาง หลังยื่นศาล รธน.

​ด้าน สมชัย​ กล่าวว่า​ ตนขอยกอริยสัจ​ 4 ซึ่งใช้ได้กับทุกเรื่อง​ คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นเกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้นไม่ใช่ประชาชน ซึ่งกังวลว่าจะสามารถ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำของประเทศต่อไปได้หรือไม่ โดยสาเหตุแห่งทุกข์ เกิดจากรัฐธรรมนูญตามมาตรา 158 ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่ง ต่อเนื่องกัน 8 ปีไม่ได้​ ซึ่งถือเป็นการผูกขาดอำนาจ ที่ไม่ใช่วิธีการทางรัฐสภา​ การดำรงตำแหน่ง​ 8 ปี​ มาจากการยึดอำนาจ 4 ปีกว่า​ และอีก​ 3 ปี​ มาจากการฉ้อฉลอำนาจ​ ดังนั้นตนขอเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้อง​ปล่อยวาง​ แล้วท่านจะเป็นสุข​ พ้นจากทุกข์ทันที​

​สมชัย​ กล่าวว่า กรณีที่ส.ส.เข้าชื่อยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย มีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.เมื่อศาลรับคำร้อง จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยหากมีคำสั่งศาล หยุดปฏิบัติหน้าที่ต้องหยุดอย่างไม่มีเงื่อนไข​ 2. หากศาลไม่สั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคาดการณ์ว่า ศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน​ เนื่องจากเป็นเพียงการพิจารณาด้านข้อกฎหมาย 

สมชัย.jpg

​แต่หากศาลมีคำวินิจฉัย ให้พ้นจากตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์​ จะต้องถอยกลับมา ให้วันที่​ 24 ส.ค. เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีจะต้องคืนทั้งหมด​ ส่วนใครจะเป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี​ ณ ขณะนั้นเป็นเรื่องของ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้รักษาการแทน จนกว่าที่ประชุมรัฐสภา จะประชุมเพื่อตกลงกันว่า จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ

​“หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมลงจากตำแหน่ง​ ผลร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น​ คือ​ จะเป็นการสร้างสถานการณ์ ที่เลวร้ายต่อบ้านเมือง ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว กลุ่มก้อนองค์กรต่างๆ ภาคต่างๆในสังคมจะเริ่มแสดงออก ทั้งนักวิชาการ​ กลุ่มองค์กรเอกชน​ ซึ่งคาดการณ์ได้ยากว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง” นายสมชัย​ กล่าว


8 ปี เป็นคู่ขัดแย้งประชาชน

ขณะที่ เยี่ยมยอด กล่าวว่า กรณี 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นวิกฤติกระแสหลัก เนื่องจากว่าเคยประกาศว่า จะมีการปฏิรูปการเมือง แต่ระยะเวลา 7 ปีมานี้ กลับไม่มีการทำอะไรเลย ไม่เจตนาที่จะปฏิรูป ไม่เจตนาที่จะเอาฟืนออกจากกองไฟ แต่กลับตรงข้าม บางเรื่องตอกลิ่มลงไปอีก เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น 

​ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่พล.อ.ประยุทธ์อยู่ 8 ปี กลายมาเป็นคู่ความขัดแย้งเสียเอง ดังนั้นเมื่อพล.อ.ประยุทธ์มาเป็น ศูนย์กลางของความขัดแย้ง ก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส ที่ตัวท่านจะขจัดปัญหานี้ ทางแก้ปัญหานี้มี 2 ทางคือ ฝ่ายค้านก็ต้องแสดงความรับผิดชอบเช่นกัน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์หมดวาระ หรือพ้นสภาพไปโดยไม่มีเงื่อนไข พรรคการเมืองต้องรีบถอนตัว ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เยี่ยมยอด ศรีมันตะ.jpg


ควรปล่อยวาง ปลดแอกประเทศ

​ขณะที่ พท.พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า พวกเราประชาชนทุกคน ถูกกดหัวในเรื่องค่าไฟฟ้า และราคาพลังงาน ปล่อยให้ค่าก๊าซลอยตัว พวกที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน รวยอู้ฟู่กำไรเป็น 1,000 เท่า สมรู้ร่วมคิดกันขึ้นค่าไฟ ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้า จากอันดับ 10 ขึ้นมาเป็นอันดับ 5 จนตอนนี้เป็นอันดับ 1 ของประเทศแล้ว บนความลำบากยากจนของประชาชน 

​“ประเทศไทยมีจุดอ่อนหลายอย่าง เมื่อเห็นอำนาจเห็นสมบัติ หรือผลประโยชน์ ที่สามารถที่จะร่วมกันกอบโกยได้ ก็จะหลงอยากจะเสวยสุขต่อไป โดยที่ไม่ได้คำนึงว่า พี่น้องประชาชนร่วมชาติ จะเดือดร้อนอย่างไร อยากสื่อไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ว่า 8 ปีน่าจะพอแล้ว ให้คนอื่นทำงานบ้าง ประชาชนควรจะมีความสุข จากผู้นำที่เขาเลือกมากกว่า” พท.พญ.กมลพรรณ กล่าว

กมลพรรณ ชีวพันธุศรี.jpg


หาก 24 ส.ค. ไม่ตัดสินใจ ประชาชนจะขีดเส้นให้

​ส่วน เมธา กล่าวว่า การเมืองไทยปฏิรูปมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเราติดกับดัก ของวัฏจักรรัฐประหารทั้งปี 2549 และปี 2557 ดังนั้นในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ว่าเราติดหล่มกับดักอำนาจนิยมอย่างไร วันนี้ชัดเจนว่าผลพวงที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งท่ามกลางความล้มเหลว ประชาชนเห็นจากการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง 

​แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์และพวก จะมองไม่เห็นปัญหานี้ แต่เชื่อว่าประชาชน ทุกภาคส่วนเห็นปัญหาร่วมกัน ดังนั้นหลังแถลงการณ์ 99 พลเมืองออกมา ขอให้ทุกฝ่าย ทุกสาขาอาชีพร่วมกันเรียกร้อง แม้กระทั่งคนที่ไม่เคย ออกมาตำหนิรัฐบาล ในเรื่อง 8 ปี ก็เห็นพ้องร่วมกันว่าถึงเวลา ที่ต้องเสียสละ  

​เลขาครป. กล่าวว่า ความจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะเปิดรัฐสภาให้แก้ไข ปัญหาวิกฤติการเมือง ซึ่งจะได้รับการชื่นชมยกย่อง จากทุกภาคส่วนของประเทศ และเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถ้านายกฯไม่เลือกการยุบสภา หรือลาออกก่อน และขณะเดียวกันการชุมนุมของพี่น้องประชาชน จะตามมาอีกหลายส่วน ถ้านายกฯไม่เลือกเสียสละเพื่อบ้านเมือง ดังนั้นหลังวันที่ 24 ส.ค. หากท่านไม่เลือก เส้นทางที่ลงหลังเสืออย่างสง่างามแล้ว ประชาชนคงจะกำหนด ชะตากรรมให้ท่านเอง