ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชนจับมือรำลึก 50 ปี 14 ตุลาฯ ตั้งหวังร่าง รธน. ฉบับประชาชน รวมหัวกะทิมองหนทางปลดล็อกกลุ่มการเมืองครอบงำประเทศ เปิดทางประชาชนมีส่วนร่วม เร่งเปิดแผลรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ จัดตั้ง ส.ส.ร. หลังเลือกตั้ง

วันที่ 19 ต.ค. ที่อนุสรณ๋สถาน 14 ตุลา มีการแถลงข้อเสนอ ‘50 ปี 14 ตุลา ถึงเวลารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ประกอบด้วย เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย ณัฏฐา มหัทธนา คณะรณรงค์แก้ไข รธน. ม.272 และ บุญส่ง ชเลธร อดีต 1 ใน 13 กบฎ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา จัดโดย ครป. สถาบันสังคมประชาธิปไตย คณะรณรงค์แก้ไขรธน. ม.272 และเครือข่ายภาคประชาชน

เมธา กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ผ่านมา 25 ฉบับแล้ว ผ่านเพียงแค่ 1 ฉบับ เรื่องการแก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ล่าสุดรัฐสภาตีตกร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ โดยเฉพาะของคณะรณรงค์แก้ไข ม.272 มี ส.ว.เพียง 14 คน ที่ยอมตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ดังนั้น เราไม่อาจหวังการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากรัฐสภาชุดนี้ได้ แต่การเดินหน้าแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องเดินหน้าต่อไปสู่ชัยชนะของประชาชนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ได้

ตนเห็นว่ารัฐสภาเคยรับหลักการให้มี ส.ส.ร. ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. น่าจะผ่านรัฐสภาครึ่งใบไปได้ รวมถึงข้อเสนอการประชามติ พร้อมกันกับการเลือกตั้งทั่วไป ในคำถามให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ใหม่ และสืบเนื่องจากวิกฤตการเมือง 16 ปีที่ผ่านมา สมควรนิรโทษกรรมคดีการเมืองนับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมาเพื่อเริ่มต้นศักราชใหม่

“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่กระจายอำนาจการปกครอง และรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกรวบอำนาจแทนการกระจายอำนาจได้ และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจแทนการผูกขาดของกลุ่มทุนพวกพ้องได้ ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐและกระบวนการยุติธรรมแบบเลือกปฏิบัติแบบ SLAPP จะไม่เกิดขึ้นและเกิดความรุนแรงจากผู้เห็นต่างทางการเมืองได้ การพยายามควบรวมทุนเพื่อมีอำนาจเหนือตลาดแบบ ทรู-ดีแทค หรือ AIS-3BB ก็จะไม่เกิดขึ้น รวมถึงรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจะนำไปสู่การยุติการคอร์รัปชั่นภายในกองทัพ ผ่าตัดระบบอำนาจนิยมในราชการ และตำรวจ” นายเมธา กล่าว


เล็งยื่น 5 หมื่นชื่อเข้ารัฐสภา ชงแก้ รธน. 60

โภคิน พลกุล กล่าวว่า วันนี้บ้านเมืองถึงทางตันเพราะฝ่ายการเมืองและทุนพรรคพวกยึดกุมประเทศ จนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงและเกิดวาทะกรรมทางการเมืองมากมายที่ต่างอ้างประชาชน พรรคการเมืองและภาคประชาชนจึงจะต้องช่วยกันก้าวผ่านหล่มของความขัดแย้งให้ได้ ถ้าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้เสมอ เหมือนช่วงที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาประเทศไทยที่ติดหล่มอำนาจนิยมและทุนพรรคพวกอยู่ในปัจจุบัน เพื่อยุติวงจรอุบาทว์การยึดอำนาจ ซึ่งตนจะเสนอให้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่าการทำรัฐประหารเป็นกบฎตลอดเวลา เพื่อให้ศาลได้หยิบใช้ไปพิจารณา แม้ว่าต่อมาจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ข้อความเหล่านี้ยังคงอยู่ 

“ขณะนี้สังคมไทยตกผลึกร่วมกันว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญแบบนี้ประเทศไปไม่รอด จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ 60 ให้เป็นประชาธิปไตย โดยรูปธรรมคือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งประเทศ มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อตอบโจทย์ประชาชน ผมมีส่วนในการผลักดันให้มี ส.ส.ร. 99 คนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาแล้ว และพยายามผลักดันในรัฐสภาที่ผ่านมาแต่คาอยู่ในวาระ 3 เพราะมีกลุ่มการเมืองไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้มีการประชามติ

ดังนั้น วิธีการที่เป็นไปได้คือการแก้เกมโดยเสนอร่างฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 แทน โดยไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องประชามติ แต่แก้ตั้งแต่หมวด 3 ขึ้นไปจึงไม่เข้าองค์ประกอบ เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จากข้อเสนอของประชาชนในอนาคต และเสนอค้างไว้ในรัฐสภา โดยจะไปยื่นเรื่องริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชน 50,000 รายชื่อต่อประธานรัฐสภาวันอังคารนี้ (25 ต.ค.) เพื่อนำเสนอค้างไว้ในรัฐสภา หากไม่ทันการประชุมสภารอบนี้ก็รอรอบหน้า” โภคินกล่าว


เร่งสร้างรัฐบาลประชาธิปไตย เปิดทาง รธน. ประชาชน

สมชัย อธิบายว่า ปฏิทินทางการเมือง 5-6 เดือนข้างหน้านี้จะเป็นอย่างไรและเราจะรับมืออย่างไร ประชาชนสนใจว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่ ตนเดาว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงรอหลังปีใหม่ ตามที่ได้สั่งการกระทรวงการต่างๆ จะมอบของขวัญปีใหม่อะไรให้ประชาชนได้บ้างเพื่อเป็นของขวัญจากรัฐบาลชุดนี้ หลังจากนั้นค่อยยุบสภาเพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชน วันที่ 24 ธ.ค.ไม่ใช่วันสุดท้ายในการย้ายพรรค แต่เป็น 7 ก.พ. 2566 ตามกติการัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนเชื่อว่าจะมีการยุบสภาก่อน 7 ก.พ. แน่นอน เพราะถ้าไม่ยุบ ส.ส.จะทยอยลาออกกันไปก่อนมากมาย ยกเว้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนใจไปต่อทางการเมืองและอยากอยู่จนครบวาระ และการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นปลายเดือน มี.ค. 2566

“มีเหตุการณ์สำคัญที่น่าจับตาคือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาจจะชี้ได้ว่าร่างกฎหมายนี้ไม่สมบูรณ์และกระบวนการออกกฎหมายขัดต่อหลักที่ควรเป็น หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เราจึงต้องวางแนวทางเพื่อรับมือให้ได้ แต่ความหวังในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาชุดนี้ไม่ง่าย เพราะแม้แต่ร่างกฎหมายท้องถิ่นก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลที่เสนอผ่านรัฐสภาไปแล้วก็ไม่น่าจะทันรัฐสภาชุดนี้ที่อาจจะยุบสภาก่อน แต่เรารณรงค์เพื่อสร้างกระแสสังคมได้” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน ควรจะต้องให้วิธีเปิดแผลรัฐบาลให้มากขึ้น รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และเตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้ง หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านแล้ว ก็พิจารณาแนวทางต่อสู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งเชื่อว่าออกมาในรูปแบบไหนประชาชนก็น่าจะหาวิธีการเอาชนะได้ และเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลแล้ว หมุดหมายการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยจึงจะเป็นจริงได้


ส.ส.ร.ประชาชน ความหวังใหม่หลังเลือกตั้ง

ณัฏฐา กล่าวว่า หลังร่างแก้ไข ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่ผ่านรัฐสภาทำให้ท้อแท้ใจอย่างมาก แม้เราไม่ได้แพ้เสียงในสภาผู้แทนสภาผู้ราษฎร แต่เราแพ้เสียงส่วนน้อยที่กติกาที่ไม่เป็นธรรมได้วางไว้ แต่เสียงส่วนใหญ่กลับไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งและแก้ไขไม่ได้ จึงต้องสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ คือมีที่มาและเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย จะต้องถือเป็นภารกิจของทุกคน ทุกพรรค 

ขณะที่ บุญส่ง ชเลธร กล่าวว่า เมื่อปี 2549 ปีเราตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2516 เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บทเรียนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ตนคิดว่าแค่เรื่องรัฐธรรมนูญคงไม่เพียงพอที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เพราะกลุ่มนายทุนเข้ามาในรัฐสภามากขึ้นและเขียนกฎหมาย เอื้อกติกาต่อพวกพ้องตนเอง จนเกิดการผูกขาดเศรษฐกิจมากขึ้น

“หลังเลือกตั้ง ถ้าเรามี ส.ส.ร.จากประชาชน เราจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้นแน่นอน ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา และรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ดีมากที่สุดฉบับหนึ่งหลังการปฏิรูปการเมือง แต่ก็อยู่ได้ไม่นานจนเรามีรัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับแล้ว เจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ คืออยากให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และยังไม่บรรลุผลในปัจจุบันนี้” บุญส่ง กล่าว