ไม่พบผลการค้นหา
'โคทม อารียา' ยัน คนอยากเป็นรัฐบุรุษต้องรู้จักคำว่าพอ ด้าน 'พนัส ทัศนียานนท์' แนะ 'ประยุทธ์' ใช้ ม.44 ยุบ ป.ป.ช.และปลดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และคณะตรวจสอบภาคประชาชน จัดเวทีประชาชน "ตรวจสอบรายชื่อคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2 กับเสียงสะท้อนของประชาชน" นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมต่างรับรู้ว่าพลเอกประยุทธ์ มีคุณสมบัติที่ด้อยคุณภาพในการเป็นนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากที่มีปมด้อยเรื่องภาษาอังกฤษ แต่ก็เชื่อว่าคนเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งสังคมต้องช่วยกันกดดันด้วย และพลเอกประยุทธ์ อาจใฝ่ฝันที่จะเป็นนายทหารประชาธิปไตยหรือเป็นมหาบุรุษด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม นายพนัส มองว่า พลเอกประยุทธ์มีลักษณะด้อยที่ไม่สามาถเป็นนายทหารประชาธิปไตยได้ จากการแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ว่าไม่ได้มีสำนึกหรือชื่นชอบประชาธิปไตยเลย แต่หลังเสียชีวิตไปแล้วอาจมีคนเขียนชื่นชมให้เป็น "มหารัฐบุรุษ" ในหนังสืองานศพก็ได้ นายพนัส เสนอว่า นอกจากพลเอกประยุทธ์ต้องปรับตัวแล้ว การจะให้สังคมชื่นชมหรือเป็น"มหารัฐบุรุษ"ได้ ต้องไม่แต่งตั้งผู้มีข้อกังขาหรือประวัติมัวหมองมาเป็นรัฐมนตรี โดยเฉพาะพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่สำคัญคือเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกคำสั่ง คสช.ต่างๆโดยเฉพาะที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนทั้งหมด รวมถึงสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งและใช้ มาตรา 44 สั่งยุบ ป.ป.ช.ด้วย

รองศาสตราจารย์ โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม มองว่า รัฐบุรุษในไทยและต่างประเทศต่างรู้จักคำว่า "พอ" ในการครองอำนาจทั้งสิ้น ดังนั้น ต้องถามไปยังพลเอกประยุทธ์ว่า พร้อมที่จะทำและพูดคำว่า "พอแล้ว" หรือยัง หากทำไม่ได้ ใครก็อย่าเพ้อฝันว่าพลเอกประยุทธจะสามารถเป็น "มหารัฐบุรุษ"ได้

รองศาสตราจารย์โคทม กล่าวด้วยว่า การที่พลเอกประยุทธ สืบทอดอำนาจได้ เป็นเพราะการคำนวณสูตร ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กให้มาสนับสนุน โดยอ้างเรื่องคะแนนโอเวอร์แฮงค์ ซึ่งส่วนตัวคำนวณและเห็นว่า หลังการเลือกตั้งจะมีพรรคการเมืองเพียง 16 พรรคเท่านั้นที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อและฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.จะได้เป็นรัฐบาล

รองศาสตราจารย์ โคทม กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจขานรับหรือรับลูกกันเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้เสนอว่า นักวิชาการและภาคประชาชน ต้องใช้สันติวิธีในการต่อสู้ ซึ่งนอกจากสังคมจะต้องการความปรองดองและความสงบแล้ว ยังต้องการความเป็นธรรมที่ถือว่าสำคัญที่สุด

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า ถูกผู้สนับสนุนหรือ FC ผู้มีอำนาจวิจารณ์โดยตั้งข้อกังขาว่าเป็น" มือปืนรับจ้าง" ในการร้องเรียนของฝ่ายตรงข้าม พร้อมยืนยันว่าทุกกรณีมีพยานหลักฐานชัดเจนจึงดำเนินการ โดยล่าสุดได้ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติผู้จะมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ 2 ต่อหน่วยงานต่างๆ ซึ่งนายศรีสุวรรณ ไม่ยอมรับบุคคลที่ตัวเองเชื่อว่าขาดคุณสมบัติ แม้ผู้มีอำนาจจะอ้างว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนก็ตาม รวมทั้งเห็นว่าผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ควรมาเป็นรัฐมนตรี

นายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าเตรียมร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.อีกครั้งในเรื่อง ส.ว.แม้ไม่ได้คาดหวังว่า ป.ป.ช.จะดำเนินการตามที่ควรจะเป็น แต่อย่างน้อยสังคมก็ได้รับรู้และอาจมีคณะกรรมการชุดใหม่ที่กล้าหาญพอจะดำเนินการกับผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ ยังเตรียมยื่นถอดถอด ป.ป.ช.ตามช่องทางต่างๆที่มีอยู่ด้วย เพราะเชื่อว่า หาก ป.ป.ช.ชุดนี้ยังอยู่ ทุกคำร้องอาจถูกดองหรือบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ อย่างที่ตัวแทน ป.ป.ช.บอกว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่ยืมเพื่อนมา