ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าหน้าที่ตำรวจตุรกีจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยหนึ่งราย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกรณีการระเบิด ณ ใจกลางเมืองอิสตันบูลของประเทศ เมื่อช่วงวานนี้ (13 พ.ย.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 81 ราย

ซูไลมาน ซอยลู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตุรกี ออกมาเปิดเผยในวันนี้ (14 พ.ย.) ว่า ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตัวเป็น “บุคคลที่นำระเบิดมาทิ้งเอาไว้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระเบิด” ในสถานที่ที่มีประชาชนสัญจรผ่านไปมาอย่างพลุกพล่านของอิสตันบูล เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตุรกี

ซอยลูกล่าวหาว่า พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งเป็นองค์กรนอกกฎหมายของประเทศ เป็นผู้ก่อเหตุระเบิดบนถนนอิสทิกลัลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยซอยลูกล่าวว่า “การประเมินของเราเห็นว่า มันเป็นคำสั่งในการการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่ร้ายแรง ซึ่งมีมาจาก นึน อัล อารับ ทางตอนเหนือของซีเรีย”

ทั้งนี้ ซอยลูย้ำว่ากลุ่มก่อเหตุมีศูนย์บัญชาการอยู่ในซีเรีย “เราจะแก้แค้นผู้ที่รับผิดชอบการโจมตีที่น่ากลัวนี้” ซอยลูกล่าว พร้อมระบุเสริมว่ายอดผู้เสียชีวิตเดิมมีเพิ่มขึ้นจาก 6 คนเป็น 8 คนแล้วในตอนนี้ และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 81 คน โดย 2 คนในนั้นมีอาการอยู่ใน “ภาวะวิกฤติ” อย่างไรก็ดี ยังไม่มีใครออกมากล่าวอ้างว่าตนอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุในครั้งนี้

เรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี เรียกการก่อเหตุวางระเบิดในครั้งนี้ว่าเป็น “การก่อกบฏทรยศชาติ” โดยประธานาธิบดีตุรกีจกล่าวว่า เหตุการระเบิดดังกล่าว “มีกลิ่นตุๆ เหมือนจะเป็นการก่อการร้าย” ก่อนที่เออร์โดกันจะเดินทางไปประชุมสุดยอด G20 ในอินโดนีเซีย เออร์โดกันกล่าวอีกว่า มีข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้พบ “ผู้หญิงที่มีส่วน” ในการโจมตีครั้งนี้

เบเคียร์ บอซดัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตุรกี ระบุกับสถานีโทรทัศน์ A Haber ในวันอาทิตย์ว่า ผู้หญิงต้องสงสัยรายดังกล่าว ถูกพบเห็นว่านั่งอยู่บนม้านั่งตัวหนึ่งบนถนนอิสทิกลัล เป็นเวลานานกว่า 40 นาที โดยระเบิดเกิดระเบิดขึ้นหลังจากที่ผู้หญิงรายดังกล่าวลุกออกไปจากเก้าอี้เพียงไม่กี่นาที

“มีความเป็นไปได้สองอย่าง” บอซดักกล่าวกับ A Haber “มีกลไกระเบิดอยู่ในกระเป๋าใบนี้แล้วมันก็ระเบิด หรือไม่ก็มีคนกดระเบิดจากระยะไกล” ทั้งนี้ สำนักข่าว Al Jazeera ได้รับรูปภาพของผู้หญิงที่ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดดังกล่าว ทั้งนี้ ซอยลูไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ในอดีต อิสตันบูลและเมืองอื่นๆ ของตุรกีตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด กลุ่ม ISIL และกลุ่มอื่นๆ รวมถึงการโจมตีหลายครั้งในปี 2558 และ 2559 ซึ่งรวมถึงการวางระเบิด 2 ครั้งนอกสนามฟุตบอลอิสตันบูลในเดือน ธ.ค. 2559 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 38 คนและบาดเจ็บ 155 คน การโจมตีดังบกล่าวถูกอ้างความรับผิดชอบโดยองค์กรย่อยของ PKK ซึ่งเรียกร้องการปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 โดยกลุ่มดังกล่าวถูกจัดให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายโดยตุรกี สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/14/turkish-police-arrest-suspect-in-istiklal-bombing?fbclid=IwAR2ous2lV1zvrLKznVwqfxya_GfzGW9fMQGhTXZHP0wKDjxCLLD4P9C5UnA