ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ ประกาศขึ้นบัญชีดำและใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อบุคคลสัญชาติพม่า 8 ราย ซึ่งนับเป็นการใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน
คำแถลงของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนคำเรียกชื่อประเทศจากเมียนมา กลับไปเป็นเบอร์มา หรือพม่า ซึ่งเป็นชื่อที่สหรัฐฯ ใช้เรียกพม่าในช่วงภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร โดยรายชื่อบุคคลชาวพม่า 8 ราย ประกอบด้วย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ, พล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทว่าทั้งสองรายชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ ตั้งแต่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จากกรณีพบหลักฐานเชื่อมโยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา
ส่วนรายชื่อที่เหลือคือ พล.ท. มิ่นฉ่วย รักษาการประธานาธิบดี, พล.ท.โซทุต รมว.มหาดไทย, พล.ร.อ.ถิ่น อองซาน รมว.คมนาคม, พล.ท.มยาตุนโอ รมว.กลาโหม, พล.ท.เส่งวิน อดีตรมว.กลาโหม, พล.ท.เยวินโอ และ พล.ท.อองลินต่วย เลขาธิการคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ หน่วยงานเฉพาะกาลที่กองทัพตั้งขึ้นหลังยึดอำนาจนางซูจี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวอชิงตันยังสงวนท่าทีการขึ้นบัญชีดำบริษัทโฮลดิ้งใต้เงากองทัพสองแห่งคือ Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) และบริษัท Myanmar Economic Corporation (MEC) เนื่องบริษัททั้งสองซึ่งทรงอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของเมียนมานั้นหากถูกคว่ำบาตร เศรษฐกิจของเมียนมาซึ่งย่ำแย่อยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบที่เลวร้ายลงกว่าเดิม ซึ่งส่งผลต่อชาวเมียนมาโดยรวม แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไบเดนได้สั่งปิดกั้นการเข้าถึงทรัพย์สินมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ของกองทัพเมียนมาที่อยู่ในสหรัฐฯ แล้ว
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บรรดาบุคลากรหน่วยงานต่างๆ กลับเข้าไปทำงานตามหน้าที่ หลังพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมใจแสดงอารยะขัดขืนนัดหยุดงานเพื่อต่อต้านรัฐประหารร่วมกับภาคประชาชน
ผู้นำเหล่าทัพพม่าโทษกลุ่มบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า ไม่คำนึงถึงศีลธรรม ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนล้มเหลว โดยขอให้ผู้ที่ผละจากหน้าที่ กลับไปปฏิบัติหน้าที่โดยทันที เพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ไม่เน้นที่อารมณ์เป็นที่ตั้ง ทั้งยังว่าการชุมนุมรวมตัวกันจะยิ่งทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้น
"ใครที่หยุดงาน ให้กลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของชาติและประชาชน ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นใหญ่" ผบ.สส.พม่า ระบุ
ขณะเดียวกันคณะรัฐประหารเมียนมาซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "คณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ" โดยมีพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ เป็นประธานนั้น ได้ลงนามคำสั่งปล่อยตัวนักโทษกว่า 23,000 คน จำนวนนี้รวมนักโทษที่เป็นชาวต่างชาติอีก 55 คน ส่งผลให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า ท่ามกลางกระแสการต่อต้านรัฐประหารที่ประชาชนชาวเมียนมาลุกฮือทั้งประเทศ อาจมีการสร้างสถานการณ์ทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเปิดช่องให้กองทัพเข้าควบคุมการชุมนุม จนกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงเหมือนเหตุการก่อการกำเริบ 8888 หรือ 8888 Uprising เมื่อปี 2531
อย่างไรก็ตาม จากประกาศของกองทัพระบุว่า การปล่อยตัวนักโทษเนื่องในวันสหภาพเมียนมา ซึ่งตรงกับ 12 ก.พ. ครั้งนี้ "เพื่อให้นักโทษในเมียนมาซึ่งประเทศกำลังสร้างประชาธิปไตยใหม่ที่มีสันติภาพ และพัฒนาและระเบียบวินัยนั้น กลายเป็นพลเมืองดีด้วยพื้นฐานด้านมนุษยธรรมและความเมตตา"
ขณะเดียวกัน หน่วยงานช่วยเหลือนักโทษการเมืองของเมียนมาระบุวา มีประชาชนที่ถูกจับขณะออกมาเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารแล้วกว่า 260 คน จำนวนราว 20 คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ที่มา: Xinhua