ไม่พบผลการค้นหา
'มินอ่องหล่ายน์' แย้มฉีกรัฐธรรมนูญแก้วิกฤตการเมืองเมียนมา เหตุจี้รัฐบาลสอบโกงเลือกตั้งไม่คืบ - นักรัฐศาสตร์ชี้กองทัพอาจเตรียมลงมือบางอย่าง หลังรัฐบาลเตรียมแก้รธน. ลดทอนอำนาจกองทัพ

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ได้ระบุในตอนหนึ่งผ่านสุนทรพจน์ที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์เมียวดี ฉบับวันที่ 28 ม.ค. ว่า รัฐธรรมนูญเมียนมาที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2551 นั้น เป็นกฎหมายแม่บทของทุกกฎหมายที่มีอยู่และควรได้รับการเคารพ แต่อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ก็อาจจำเป็นที่กระทำบางอย่างที่ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 

ความเห็นของ ผบ.สส.เมียนมา มีขึ้นหลังจากที่กองทัพเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาในหลายครั้ง เพื่อขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. แต่ข้อเรียกร้องของกองทัพกลับไม่ได้รับการตอบสนอง โดยช่วงที่ผ่านมากองทัพเมียนมากล่าวอ้างในหลายครั้งว่า พบความผิดปกติอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 8.6 ล้านคนในทั่วประเทศที่ทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งกองทัพชี้ว่าต้องมีการตรวจสอบทั้งหมด

ท่าทีของ ผบ.สส. เมียนมาสอดคล้องกับคำแถลงของ พล.ต.ซอหมิ่นตุน โฆษกกองทัพที่กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า กองทัพปฏิเสธที่จะตัดความเป็นไปได้ของการรัฐประหารเพื่อจัดการกับ "วิกฤตทางการเมือง" หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมายังไม่ทำตามเสียงเรียกร้องของกองทัพเพื่อตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง ยิ่งกระพือซ้ำความหวั่นกลัวเกรงเรื่องการรัฐประหารมากยิ่งขึ้น 

ซอมินอ่อง นักรัฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า กองทัพเมียนมามองเห็นช่องโหว่ในรัฐธรรมนูญที่อาจกระทบต่ออำนาจของกองทัพ จึงอาศัยโวหารที่กล่าวถึงการทำรัฐประหาร ซึ่งท่าทีของกองทัพอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่คำขู่ลอยๆ แต่เป็นไปได้ว่ากองทำอาจจะลงมือกระทำบางอย่าง เว้นแต่รัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NDL) จะกระทำบางอย่างเพื่อขจัดข้อข้องใจของกองทัพเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ด้าน อองซาน ซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐเและประธานพรรคเอ็นแอลดี ยังคงไม่มีท่าทีหรือแสดงความเห็นใดต่อเรื่องนี้ ท่ามกลางกำหนดที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมียนมา เตรียมเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 ก.พ. นี้

ด้านโฆษกพรรคเอ็นแอลดี เผยกับรอยเตอร์ว่า ความตึงเครียดทางการเมืองมีขึ้นท่่ามกลางแผนการของพรรคที่เตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจของกองทัพในรัฐสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมาให้โควต้าแก่กองทัพที่ 25% ของจำนวนเสียงในรัฐสภา โดยปัจจุบันกองทัพมีคะแนนเสียงในสภาชนชาติ (สภาสูง) ที่ 56 เสียงจากทั้งหมด 224 เสียง ขณะที่มีคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรที่ 110 เสียง จากทั้งหมด 440 เสียง

ด้าน คิ่นหม่องซอว์ ผู้เชียวชาญด้านกฎหมาย พูดถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญของผู้นำกองทัพเมียนมาว่าเป็นเรื่อง "ไร้เหตุผล" โดยเขาชี้ว่า เหตุที่กองทัพต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญเพียงเพราะไม่อาจปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองได้


'ยูเอ็น - นานาชาติ' กังวล

ด้านอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา หลังจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาแสดงความคิดเห็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 

ในแถลงการณ์ของยูเอ็นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายของเมียนมา ทั้งรัฐบาลพลเรือนและกองทัพ ยุติการยั่วยุในทุกรูปแบบ พร้อมให้ทุกฝ่ายแสดงความเป็นผู้นำ ยึดมั่นในบรรทัดฐานของประชาธิปไตยและเคารพผลการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา 

"ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด ควรได้รับการแก้ไขผ่านกลไกทางกฎหมายที่กำหนดไว้" ตอนหนึ่งในคำแถลงของยูเอ็นระบุ

เช่นเดียวกับแถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยสถานทูต ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ เรียกร้องให้กองทัพและทุกฝ่ายในเมียนมา ยึดมั่นในบรรทัดฐานของประชาธิปไตย พร้อมทั้งคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือขวางการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา

ที่มา : Reuters , Theaseanpost , AFP , Japantimes , Reuters