วันที่ 15 ก.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มประชาชนผู้เสียหายจากสปายแวร์เพกาซัส นำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) เข้ายื่นหนังสือ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้สปายแวร์เพกาซัสกับผู้เห็นต่างทางการเมือง นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักวิชาการ และนักการเมืองในประเทศไทย
ยิ่งชีพ กล่าวว่า การสืบสวนโดยไอลอว์และคณะ พบว่ามีผู้เสียหายจากสปายแวร์สัญชาติอิสราเอลอย่างน้อย 35 คน โดยมีทั้งนักกิจกรรมทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงนักการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญเช่นการชุมนุมทางการเมืองใหญ่ระหว่างปี 2563 ถึง 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการชุมนุมของนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ทั้งนี้ สปายแวร์เพกาซัส เป็นสปายแวร์ราคาแพงและมีศักยภาพสูงที่สุดเท่าที่เคยพัฒนามา สามารถล้วงข้อมูลทุกอย่างบนโทรศัพท์เป้าหมายได้โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัวโดยบริษัท NSO Group ผู้ขายเพกาซัสจะทำธุรกิจกับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น และจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอิสราเอลก่อนถึงจะสามารถซื้อขายได้
จึงยื่นเรื่องร้องเรียนมาเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานของรัฐไทยแห่งใด จัดซื้อและใช้งานเพกาซัสสปายแวร์อยู่เพื่อละเมิดสิทธิของผู้ร้องเรียน รวมทั้งกำลังใช้งานเทคโนโลยีนี้ต่อบุคคลอื่นอีกมากน้อยเพียงใด เพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ด้าน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ก็คงไม่สอดรู้สอดเห็นประชาชน แต่ต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลในอนาคตจึงควรเอาเงินที่ทำเรื่องเหล่านี้ไปส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐาน เราต้องจับตาเรื่องนี้ต่อไปด้วย
จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักกิจกรรมกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) กล่าวว่า ตั้งแต่มีเพกาซัสเข้ามา ทุกอย่างในชีวิตของเราโดนสอดแนมจากรัฐ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ควรมีการสอดแนมโดยรัฐ ฝากรัฐบาลสมัยหน้าไม่นำงบประมาณมาใช้คุกคามนักกิจกรรมเช่นนี้ เพื่อประเทศไทยจะได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ด้าน ณัฐชา ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวตอบรับว่า เท่าที่ฟังข้อร้องเรียนมา ส่วนตัวก็เกิดข้อกังวลอย่างยิ่ง เรื่องนี้ไม่ชอบมาพากลแน่นอน การใช้งบประมาณไปกับสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่มีการชี้แจงอย่างชัดเจน จึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ครั้งถัดไป ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม โดยคณะกรรมาธิการฯ จำเป็นต้องเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สองหน่วยงานที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสปายแวร์ดังกล่าว