ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.พัฒนาการเมืองฯ' เชิญ 'ราษฎร-สื่อมวลชน' เปิดหลักฐานสลายการชุมนุม 18 พ.ย. ชี้ ตร. รุนแรงเกินกว่าเหตุ-ขัดต่อหลักสากล ขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

วันที่ 24 พ.ย. ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนผู้ชุมนุม ต่อกรณีการสลายการชุมนุม ‘ราษฎรหยุดเอเปค 2022’ บริเวณ ถ.ดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

โดยได้เชิญผู้ชี้แจง ประกอบด้วย บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) และ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าว The Matter ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชนที่ถูกทำร้ายในเหตุสลายการชุมนุมในวันดังกล่าว

LINE_ALBUM_221124_8.jpg

บารมี ยืนยันว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65 เป็นการชุมนุมโดยชอบ มีการแจ้งการชุมนุมไปตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 65 แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตแต่อย่างใด ในวันดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนออกจากลานคนเมืองที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาต ตามที่ประกาศว่าจะไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แต่การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้สัดส่วน ตามกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม ไม่ใช่เมื่อถึงเวลาก็สามารถนำกำลังเข้ามาทำร้ายได้เลย จึงเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการฯ ให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดทั้งหมด และขอให้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ

แม้สมัชชาคนจนชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2539 หลายครั้งอาจมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถูกทำร้ายด้วยกระบองและแก๊สน้ำตา แต่ครั้งนี้เพิ่งเคยเจอการถูกยิงด้วยกระสุนยาง ซึ่งไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังรุนแรงขนาดนั้น เห็นได้ว่ามีการสับเปลี่ยนกำลังตำรวจ โดยนำกลุ่มคนที่มีผ้าพันคอสีเขียวเข้ามาสลายการชุมนุม ซึ่งพวกเขามีลักษณะพฤติกรรมการแสดงออกที่ต่างจาก คฝ. กลุ่มอื่นๆ

LINE_ALBUM_221124_5.jpg

สมบูรณ์ เผยว่า ก่อนการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าหารือกับแกนนำอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เกี่ยวกับรูปแบบและเส้นทางการชุมนุม และได้มีการต่อรองขอให้ไม่มีการเคลื่อนตัวกลุ่มผู้ชุมนุมไปจุดอื่น ขณะที่ผู้ชุมนุมระบุว่า มีเป้าหมายจะเคลื่อนมวลชนไปถึงด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน และดำเนินกิจกรรมต่อบริเวณนั้น ซึ่งได้รับการตอบรับมาว่าหากเป็นจุดนั้นน่าจะไม่มีปัญหา

ในวันที่ 18 พ.ย. กลับมีการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้งระหว่างพักรับประทานอาหาร โดยผู้ชุมนุมขอว่าหากไปต่อไม่ได้ก็จะอยู่ตรงนี้ไปก่อน เพื่อที่จะแถลงยุติกิจกรรมในช่วงเวลา 16.00 น. แต่กลับมีการสลายการชุมนุม ซึ่งหากมีการพูดคุยกันภายในฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคงจะไม่เกิดเหตุการณ์นั้นเลย

“เหมือนกับว่า ทีมที่พูดคุยเจรจากันก็ไปทางหนึ่ง ขณะที่ทีมควบคุมฝูงชนก็ไปอีกทางหนึ่ง ความเป็นเอกภาพในการควบคุมฝูงชนรอบนี้มีปัญหามาก” สมบูรณ์ กล่าว

LINE_ALBUM_221124_11.jpg

นอกจากนี้ พงศ์พิพัฒน์ กล่าวถึงมาตรฐานการทำงานของสื่อมวลชนในพื้นที่เสี่ยงภัยว่า สื่อยังต้องทำงานในพื้นที่ได้ โดยปลอดภัย แต่ในหลายครั้งเจ้าหน้าที่มักเจรจาให้ถอยไปหลังแนวในระยะไกล ซึ่งปลอดภัย แต่ทำหน้าที่สื่อไม่ได้เลย จึงมีการเจรจาเมื่อปี 2564 ว่าสื่อจะอยู่พื้นที่ปลอดภัยระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติต่อมา ก็ไม่มีช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการระหว่างสื่อมวลและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่

พงศ์พิพัฒน์ ยังได้เน้นย้ำข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย

1. ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์วันดังกล่าวว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จึงสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งในคดีกระสุนยาง และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้

2. ขอให้คณะกรรมาธิการฯ เรียกผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันดังกล่าว มาชี้แจงถึงรายละเอียดปฏิบัติการในวันที่ 18 พ.ย. 65 และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยในอนาคต

3. ขอให้คณะกรรมาธิการฯ เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมในวันที่ 18 พ.ย. 65 ทั้งจำนวนกำลังพล นโยบายในการควบคุมและสลายการชุมนุม เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ จำนวนกระสุนยางที่เบิกมา-ใช้ไป และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. ขอให้คณะกรรมาธิการฯ เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบความรับผิดชอบทางวินัยต่อข้าราชการตำรวจที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมซึ่งทำให้ประชาชนหรือสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเหตุการณ์วันที่ 18 พ.ย. รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

LINE_ALBUM_221124_0.jpg

จากนั้น ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่สอง ประธานการประชุม ได้หารือกับกรรมาธิการฯ นอกรอบ เพื่อหาทางรวบรวมหลักฐาน ก่อนเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในโอกาสต่อไป