การปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภา มีใช้กันอยู่ในหลายประเทศ เช่นเดียวกันกับประเทศไทย โดยตำแหน่งประธานรัฐสภานั้น มีอำนาจเทียบเท่ากับประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ในขณะที่นายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการราชการแผ่นดิน
ประมุขจากฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารนั้น มีอำนาจเป็นอิสระและทำการตรวจสอบซึ่งกันและกัน กล่าวคือฝ่ายนิติบัญญัติ มีสิทธิในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ประมุขฝ่ายบริหารอย่างนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านการประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่
ข้อถกเถียงในประเด็นว่า ประธานรัฐสภาของไทยคนต่อไปจะเป็นใคร นับเป็นข้อถกเถียงที่ค่อนข้างใหม่และแทบไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย กล่าวคือ ประเทศไทยไม่เคยมีพรรคร่วมประกาศจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคอันดับแรกกับอันดับที่สอง กลับมีคะแนนเสียง ส.ส.ห่างไกลเพียงแค่ 10 ที่นั่ง นำมาซึ่งคำถามว่าใครควรเป็นประธานรัฐสภาคนต่อไป ในขณะที่ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างหยิบยกเหตุผลมาประกอบว่า เพราะเหตุใดคนของพรรคที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ควรจะเป็นประธานรัฐสภาคนต่อไป แม้ทั้งสองพรรคจะเห็นตรงกันว่า ประธานรัฐสภาจะต้องทำหน้าที่ที่เป็นกลาง
รัฐสภาเป็นสถานที่ของการถกเถียงกันระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน การตั้งคนกลางในฐานะประธานรัฐสภาจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเมืองระบอบรัฐสภา ที่ต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ควบคุมวาระการประชุมให้เที่ยงตรงและเป็นธรรมกับ ส.ส.ทุกฝ่ายไม่เลือกพรรค ทั้งนี้ แต่ละประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภา จึงมีวิธีการเลือกประธานรัฐสภาเป็นของตัวเอง
ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าประธานรัฐสภาของไทยคนต่อไปควรจะเป็นใครจากพรรคใด ‘วอยซ์’ ชวนทบทวนและส่องดูวิธีการเลือกประธานรัฐสภาของประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีวิธีตายตัว ซึ่งต่างก็ต้องการคนกลางที่นั่งบนบัลลังก์ประธาน ในการทำหน้าที่ที่เป็นกลางสำหรับสมาชิกรัฐสภาทุกคน
ประธานรัฐสภาสหราชอาณาจักร จะได้รับการเลือกในทุกๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ยกเว้นแต่ว่าประธานรัฐภาจากสมาชิกรัฐสภาชุดก่อน มีความประสงค์ในการเป็นประธานรัฐสภาต่อไป โดยจะอาศัย ‘เสียงโห่ร้อง’ เพื่อแสดงการสนับสนุนให้ประธานรัฐสภาคนก่อนดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป อย่างไรก็ดี หากญัตติดังกล่าวประสบกับความพ่ายแพ้ รัฐสภาสหราชอาณาจักรจะทำการเลือกประธานรัฐสภาคนใหม่ในวันประชุมครั้งต่อไป
หากถามว่าใครที่สามารถขึ้นมาเป็นประธานรัฐสภาสหราชอาณาจักรได้นั้น ในเชิงทฤษฎีแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรคนใดก็ได้ สามารถขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ในทางปฏิบัตินั้น ส.ส.ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีและแกนนำฝ่ายค้าน แทบจะไม่สามารถโน้มน้าวใจ ส.ส.คนอื่นให้เลือกตัวเองขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะความกังวลในเรื่องคุณสมบัติของความเป็นกลางทางการเมือง
ผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักร จะต้องได้รับการเสนอชื่อหรือ "การสนับสนุน" โดย ส.ส.จำนวน 12 คน (รวมถึงสมาชิกจากพรรคการเมืองอื่นอย่าง 3 สามคน) และ ส.ส. แต่ละคนสามารถเสนอชื่อผู้ท้าชิงได้เพียง 1 คนเท่านั้น โดยก่อนปี 2535 ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรมักเป็นคนจากฝ่ายรัฐบาล อย่างไรก็ดี นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีประธานสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักร 2 คน ได้แก่ เบ็ตตี้ บูธรอยด์ และ จอห์น เบอร์คาว ที่ได้รับเลือกมาจากฟากฝ่ายค้าน
ประธานรัฐสภาเยอรมนีจะได้รับการเลือกใหม่ในทุกๆ ช่วงเวลาการเลือกตั้ง หลังจากการเลือกตั้งระดับมลรัฐของเยอรมนี โดยประธานรัฐสภาเยอรมนีจะต้องเป็นสมาชิกของรัฐสภาเช่นกัน ทั้งนี้โดยปกติแล้วนั้น ประธานรัฐสภาของเยอรมนีจะได้รับการเสนอชื่อจากกลุ่มการเมือง ซึ่งรวมกันไว้ด้วยพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาเยอรมนี
ธรรมเนียมดังกล่าวมีปฏิบัติกันมาตั้งแต่ช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ แม้จะไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์เป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายของประเทศก็ตาม ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมของระบบรัฐสภาของเยอรมนี ประธานรัฐสภาเยอรมนีจะได้รับการเลือกโดยไม่มีข้อโต้แย้ง โดยประธานรัฐสภาเยอรมนีคนล่าสุด ได้รับเลือกจาก ส.ส.จำนวน 576 จาก 724 คนของรัฐสภา โดยมีเพียงแค่ 90 คนที่ลงคะแนนคัดค้าน และงดออกเสียงจำนวน 58 คน
การเลือกประธานรัฐสภาญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นในวันประชุมใหม่ โดยประธานรัฐสภาญี่ปุ่นจะได้รับเลือกด้วยการลงคะแนนโดยไม่เปิดเผยชื่อ และต้องมีคะแนนเสียงโหวตเลือกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาจึงจะเข้ารับตำแหน่งได้ ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาญี่ปุ่นต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น
อย่างไรก็ดี ในการโหวตเลือกประธานรัฐสภาญี่ปุ่น หากไม่มีผู้ท้าชิงตำแหน่งใดได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่ง ผู้สมัครสองคนแรกที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจะถูกโหวตใหม่อีกครั้ง และถ้าพวกเขาได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานรัฐสภาญี่ปุ่นจะถูกเลือกโดยวิธีการจับสลาก
ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาของญี่ปุ่นมักได้รับการเสนอชื่อโดยเป็นบุคคลที่มีอาวุโสสูงสุดของพรรครัฐบาล ในขณะที่รองประธานรัฐสภาญี่ปุ่นจะเป็นสมาชิกอาวุโสสูงสุดของพรรคฝ่ายค้าน
วิธีการเลือกประธานรัฐสภาของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีความแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะด้วยทั้งประเพณีปฏิบัติ หรือวิธีตามสมัยนิยม แต่ต่างได้รับการออกมาแบบเพื่อให้สอดคล้องกันกับบริบททางการเมืองของประเทศนั้นๆ การเลือกประธานรัฐสภาจึงไม่มีวิธีที่ถูกต้องตายตัว แต่เป็นการเปิดบทสทนาระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล เพื่อการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารอย่างเหมาะสม